Back Office : | Login  

ขณะนี้คุณอยู่ที่หน้า : ผลงานวุฒิอาสา > องค์ความรู้
 บทความของวุฒิอาสา Minimize

Tuesday, June 17, 2008  
 วินัย – ฐานรากที่ยิ่งใหญ่ของมนุษย์
:: 4741 Views :: ด้านการศึกษา

 

โดย... พลอากาศตรี บุญเลิศ  จุลเกียรติ

 

วินัย         

เป็นพื้นฐานของการศึกษา
เป็นพื้นฐานของการพัฒนา
เป็นพื้นฐานของการดำเนินชีวิต

การศึกษา

            ระบบการศึกษาในปัจจุบันกำลังหลงทาง  เนื่องจากเรามุ่งเน้นที่ความรู้มากเกินไป  ความรู้ไม่ใช่เครื่องมือที่จะใช้แก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน  ขณะนี้โลกเต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสารและความรู้  แต่ปัญหากลับยิ่งพอกพูน  คนจบปริญญาเอกยังอาจฆ่าตัวตาย  และคนจบปริญญาโทยังอาจทุจริตคอร์รัปชัน
            ระบบการศึกษาที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาของมนุษยชาติอย่างยั่งยืนได้ต้องเป็นระบบการศึกษาที่นำไปสู่ความรู้  และ  “ปัญญา”  น่าเสียดายมาก  ที่ระบบการศึกษาของเรามองข้าม  หลักไตรสิกขาคือ  ศีล  สมาธิและปัญญา  การเรียนรู้ในบรรยากาศที่ขาดสมาธิ  จะได้แค่ข้อมูลและความรู้  ปัญญาที่เกิดจากการเรียนรู้รับฟัง  (สุตมยปัญญา)  จะเกิดได้ในบรรยากาศที่มีสมาธิแต่บรรยากาศของการเรียนรู้จะเกิดสมาธิไม่ได้  ถ้าขาดศีลหรือวินัย
            เกือบทุกท่านคงยอมรับว่าขณะนี้สังคมไทยยังเป็นสังคมที่พร่องวินัย  กรุณามองกลับไปดูบรรยากาศในทุกระดับชั้นเรียนที่เราเคยผ่านมาว่า  มีการเน้นย้ำเรื่องวินัยมากน้อยเพียงไร  เยาวชนของเราเห็นความสำคัญของการตรงต่อเวลาแค่ไหน  เขายังทิ้งขยะผิดที่หรือเปล่า  และในชั้นเรียนยังมีเสียงโทรศัพท์มือถือ  การพูดคุยกันตามอำเภอใจ  การเดินเข้าออกเปะปะ  และการทำกิจกรรมอื่นๆ  ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนในวิชานั้นหรือไม่
            ปัญญาที่แก้ปัญหามนุษย์ได้คือ  “ปัญญาแห่งการรู้จักตัวเองและรู้เท่าทันธรรมชาติ”  ซึ่งสามารถสอนในชั้นเรียนได้  ขึ้นอยู่กับผู้ถ่ายทอดเนื้อหา  วิธีการถ่ายทอด  และขึ้นอยู่กับผู้รับการถ่ายทอด  บทความนี้เน้นที่ผู้รับถ่ายทอดว่า  จะต้องได้รับการปลูกฝังด้านวินัย  (ศีล)  เพื่อให้เกิดความเตรียมพร้อม  (สมาธิ)  ที่จะพัฒนาให้เกิด  “ปัญญา”  ท่านที่สนใจเรื่องแนวทางการถ่ายทอด  ขอความกรุณาหาข้อมูลได้จากบทความเรื่อง  “ทางสู่สังคมแห่งปัญญา” 

การพัฒนา

            การพัฒนาประเทศจะไม่มีทางที่จะประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนได้  ถ้าเราไม่เริ่มต้นที่วินัย  เพราะวินัยเป็นพื้นฐานของความรับผิดชอบ  และวินัยกับความรับผิดชอบ  จะเป็นพื้นฐานของความซื่อสัตย์สุจริต
            เป็นไปไม่ได้ครับ  ที่เราจะพัฒนาประเทศไปสู่ความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจและสังคมได้  ถ้ายังมีการทุจริตคอร์รัปชันในระดับนี้อยู่ในสังคมไทย  การบริหารงานในทุกหน่วยงาน  มีการตื่นตัวเรื่องการสร้าง  การกำกับ  และตรวจสอบด้วยระบบ  แต่ถ้ามองย้อนกลับไปจะพบว่า  หลายหน่วยงานที่นำระบบการบริหารจัดการมาปฏิบัติ  ต้องเปลี่ยนระบบไปแล้วกี่ระบบ  ทั้งๆ  ที่ทุกระบบการบริหารถูกวางแผนค้นคิดมาแล้วอย่างดี  แต่เมื่อนำมาใช้แล้วไม่ได้ผล  ไม่กี่ปีก็ต้องเปลี่ยนระบบใหม่  เพราะคิดว่าน่าจะเป็นระบบที่ดีกว่า
            ถ้าจะเปรียบการทำงานด้วยระบบเหมือนการปั้น  บุคลากรในหน่วยงานก็จะเปรียบได้กับวัสดุที่ใช้ปั้น  การปั้นจะดีวิเศษอย่างไร  ถ้าวัสดุที่ใช้ปั้นยังเป็นเลนเละๆ  ปั้นอย่างไรก็จะไม่ได้รูปทรงที่ต้องการอย่างถาวร  ที่ผ่านมาเรามัวหลงไปเปลี่ยนวิธีปั้น  คือการเปลี่ยนระบบบริหารโดยลืมนึกถึงหรือมองข้ามความจริงว่า  สาเหตุของความไม่สำเร็จ  เกิดจากวัสดุที่ใช้นั้น  ยังไม่ใช่วัสดุพร้อมปั้นต่างหาก  พื้นฐานของการพัฒนาการบริหาร  น่าจะเป็นการเตรียมวัสดุที่ใช้ปั้นให้พร้อม
            การเตรียมวัสดุที่ใช้ปั้น  ให้เป็นวัสดุพร้อมปั้นได้  จำเป็นต้องเติม  “สาร”  หรือองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดลงไป  และองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดที่จะต้องมีในวัสดุ  หรือบุคลากรขององค์กร  ก็คือ  “วินัย”  นั่นเอง
            ถ้าไม่เริ่มสร้างองค์กรที่มีวินัย  กี่ระบบการบริหารก็คงนำมาใช้ไม่ได้ผล  กรุณาอย่ามัวหลงเปลี่ยนหรือค้นหาระบบใหม่ๆ  กลับมาเริ่มที่การปลูกฝังวินัยก่อนดีกว่า  และถ้าจะมาเริ่มกันตอนโตแล้วจะสายเกินไปไหม?  คำตอบคือ  ไม่สายครับ  ดีกว่าไม่เริ่มเลยแน่ๆ  แต่ก็แน่นอนครับ  ถ้าเริ่มได้ตั้งแต่เด็กน่าจะดีที่สุด  เพราะมันจะสามารถหยั่งรากแก้วเป็นค่านิยมที่ไม่สั่นคลอน  ถ้ามาเริ่มตอนอายุมาก  อาจจะได้แค่รากแขนง  ซึ่งก็ยังดีกว่าไม่มีรากยึด
            ถ้ามาเริ่มเอาตอนโต  แล้วมีการเอากฎระเบียบมาบังคับใช้อย่างจริงจังร่วมด้วย  ก็พอจะหวังได้ว่าน่าจะไปรอดครับ

การดำเนินชีวิต

           แน่นอนครับ  ทุกคนอยากดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข  แต่ลองคิดดูนะครับ  ถ้าเกิดรถติดอยู่และทุกคนต่างก็อยากรีบ  แต่รถที่มาทีหลังใช้ไหล่ทางแทรกเข้ามาเพื่อจะได้ไปก่อน  ในขณะที่รถที่อยู่ในช่องทางปรกติกับถูกเอาเปรียบจากคนหน้าด้านที่ขาดวินัย  การดำเนินชีวิตของท่านจะมีความสุขไหมครับ
            เคยมีผู้มีประสบการณ์รถติดบนถนนใหญ่ระหว่างรัฐในประเทศออสเตรเลียเล่าให้ฟังว่า  ขณะรอการขับเคลื่อนแบบสลับคันระหว่างรถหลายช่องทางที่ถูกเบียดให้เหลือช่องทางเดียวจากอุบัติเหตุอยู่ประมาณเกือบสองชั่วโมง  สังเกตเห็นรถที่เปิดเลนวิ่งบนไหล่ทางเพียงไม่กี่คัน  และทุกคันล้วนแล้วแต่เป็นรถตำรวจหรือไม่ก็รถพยาบาลทั้งสิ้น  รถทั่วไปจะรอสลับคันเพื่อผ่านคอขวด  ตามกฎ  “มาก่อนไปก่อน”  ไม่ใช่  “มาทีหลัง  หน้าด้าน  ได้ไปก่อน”  อย่างที่เราเห็นๆ  กัน
            ลองดูสถิติการเกิดอุบัติเหตุ  ระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้ว  กับประเทศที่ด้อยหรือกำลังพัฒนา  จะพบว่าต่างกันมาก  การขาดวินัยเป็นสาเหตุสำคัญข้อหนึ่งของการเกิดอุบัติเหตุ
            ท่านเคยไปรับการตรวจที่โรงพยาบาลแล้วต้องนั่งรอหมอนานนับชั่วโมงหรือไม่  และเคยมีประสบการณ์ที่หมอหรือพยาบาล  มีพฤติกรรมหรือพูดจาทำให้ท่านไม่พอใจหรือไม่  กรุณาอย่าเพิ่งโทษหมอพยาบาลอย่างเดียวนะครับ  เพราะขณะนี้ไม่ใช่เฉพาะหมอหรือพยาบาลที่มีปัญหา  ตำรวจ  ทหาร  ทนายความ  ครู  พระ  และช่างซ่อมรถ  ก็มีปัญหาทุกวงการ  เพราะผู้ที่จะมาเรียนเป็นหมอ  เป็นพยาบาล  เป็นตำรวจ  หรือบวชเป็นพระก็คือลูกชาวบ้านนั่นเอง  ถ้าลูกชาวบ้านเข้าเรียนสาย  ทิ้งขยะเปะปะและนั่งคุยกันในห้องเรียนได้  จบเป็นหมอ  ก็ออกตรวจสายได้  จบเป็นพยาบาลก็อาจเย้าหยอกกันเองขณะดูแลคนไข้หนักได้
            ถ้าเราไม่ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างสรรสังคมให้มีวินัย  เราก็คงจะต้องทนดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมที่มีการเอาเปรียบคดโกง  เสี่ยงต่ออุบัติเหตุและสังคมที่เป็นทาสของวัตถุกันต่อไป
            วินัยไม่ได้เริ่มที่บ้าน  หรือโรงเรียน  วินัยเริ่มที่ตัวเราเอง  และเริ่มได้ทันที  ครับผม


 Print   
 บทความที่เกี่ยวข้อง Minimize

 Print   
Copyright © 2008 by สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ