Back Office : | Login  

ขณะนี้คุณอยู่ที่หน้า : ผลงานวุฒิอาสา > องค์ความรู้
 บทความของวุฒิอาสา Minimize

Wednesday, June 18, 2008  
 ปัญญาเหนือโลก
:: 3863 Views :: ด้านศิลปวัฒนธรรมและศาสนา

โดย...ผศ. นาม  ศิริเสถียร

 

ปัญญา  คือ ความรู้ ความรู้ทั่ว ความฉลาดเกิดแต่การเรียนและคิด (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525)

          ปัญญา  ความรู้ทั่วถึง ความรู้ทุกด้าน ถ้ารู้เพียงแง่ใดแง่หนึ่ง ไม่นับว่าเป็นปัญญา ปัญญามีหลายระดับ ระดับพื้นๆ ที่เราศึกษากันคือ ปริญญาตรี โท เอก เป็นพวกปัญญาหากิน คือ มีไว้สำหรับสมัครงานหาเลี้ยงชีพให้ตัวเองและครอบครัว ใครมีปริญญาแบบนี้มากๆ มีหลายใบ หลายสาขา ยิ่งเป็นศาสตราจารย์ ก็หากินง่าย ได้เงินดี ถ้ามีในสายวิชาที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจต่างๆ ยิ่งดี ใครเรียนน้อย ไม่มีใบประกาศเลย ก็หากินลำบาก ต้องใช้แรงงาน ไปสมัครงานที่ไหนก็ไม่มีใครรับ ปัญญาทางหากินแบบนี้ พระท่านเรียกว่า “โลกียปัญญา” พระท่านอนุโลมเรียก ปัญญาระดับโลก คือ สังคมโลกเขายกย่องนับถือกัน พระท่านไม่นับเป็นปัญญาเพราะยิ่งเรียนยิ่งโง่ คือ รู้มากแต่โง่ ทั้งนี้เพราะก่อนมีปริญญา ใครพูดอะไรก็ฟังคนอื่นเขาดี แต่พอได้ปริญญาหลายใบ......ชักมีความรู้สึกว่า ตัวมีความรู้มาก ไม่ค่อยฟังใคร ต้องการแต่จะให้คนอื่นฟังตน บางคนเรียนมาด้านเดียวแต่ก็สู่รู้ทุกอย่าง ทุกสาขา คนพวกนี้ท่านเรียนว่า “นักวิชาการแสนรู้” ที่ท่านบอกว่า ยิ่งรู้มากยิ่งโง่ เพราะความรู้ที่เรียนมานั้น เป็นม่านบังตา ไม่เข้าใจความจริงของโลกและชีวิต ทำให้เกิดมีทิฐิมานะ ลุ่มหลง ยึดติดอยู่กับความรู้ ความเห็นผิด คนพวกนี้ท่านเรียกว่า “ตุจฉโปฏฐละ” (คนใบลานเปล่า) ความรู้ที่ได้จากการเล่าเรียนนี้ พระท่านว่าเป็นเพียงความคงแก่เรียน หรือความเป็นพหูสูต เพราะยิ่งรู้มาก ยิ่งทำให้เกิดมานะทิฐิมาก ถ้าไม่รู้จักควบคุมตัวเองด้วยแล้ว จะดูถูกคนอื่นว่าโง่เง่าไปหมด ทางพระพุทธศาสนาถือว่าคนชนิดนี้ เป็นคนโง่แท้ หาใช่บัณฑิตไม่ บัณฑิตนั้นมิใช่วัดด้วยความคงแก่เรียน แต่วัดด้วยความประพฤติดีทางกาย วาจา และใจ ลด ละกิเลส ได้มากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งหมดไปโดยสิ้นเชิง ปัญญาที่ทำให้คนเป็นบัณฑิต มิใช่ด้วยการเล่าเรียน หากแต่เกิดจากการปฏิบัติฝึกฝนอบรมจิต เป็นประสบการณ์ตรง เป็นความสว่างภายในโดยเฉพาะ ปัญญาชนิดนี้แหละที่ท่านเรียกว่า “โลกุตรปัญญา” (ปัญญาเหนือโลก) ปัญญาเหนือโลกนี้ คนธรรมดาที่มีชีวิตเรียบง่าย เขาเข้าถึงได้ง่าย ง่ายกว่าบัณฑิตที่มีปริญญาเยอะๆ แขวนเต็มฝาบ้าน นี่คือความจริงของโลกมนุษย์ยุคโลกาภิวัฒน์ ที่นิยมยกย่องเงินตรามากกว่าคุณค่าของคน จึงตกเป็นทาสของวัตถุนิยมกันมาก

         ขอเล่าเรื่องประกอบให้คิดสักเรื่อง มีศาสตราจารย์ ดร.ก.นาดู เป็นหัวหน้าภาควิชา ได้สั่งให้ช่างไม้ไปทำงานอย่างหนึ่ง แต่ช่างไม้ใคร่ครวญดูแล้วไม่ทำตามที่นายสั่ง ช่างไม้ไปทำอีกอย่างหนึ่งซึ่งใช้งานได้ดีกว่าที่นายสั่ง พอท่าน ศ.ดร. ก.นาดู ไปพบเข้าตรวจดูก็โกรธมาก สั่งตั้งกรรมการขึ้นมา 3 ท่าน แล้วสั่งประธานไว้ด้วยว่าให้ไล่ช่างไม้ออกจากงาน ประธานและกรรมการทั้ง 3 ท่าน ตรวจสอบแล้วผลปรากฏว่า เขาทำงานใช้ประโยชน์ได้ดีกว่าแบบที่ ศ.ดร. ก.นาดู สั่ง จึงชมเชยอีกที่รู้คิด หาวิธีทำงานให้ผลดีแก่ราชการ หัวหน้าภาคโกรธมากที่ไม่ไล่ช่างไม้ออกจากงาน ได้สั่งไปกับประธานสอบสวนอีกว่าให้ไล่ช่างไม้คนนี้ออกจากงานในฐานะที่ขัดคำสั่ง ไม่ทำงานตามที่นายสั่ง ประธานสอบสวนก็ตอบว่า เขาทำงานดีกว่าของท่านสั่งเยอะ ผมไม่ไล่ออกหรอก อยากไล่เขาออกก็เชิญทำเองเถอะ ผมไม่ทำ เป็นไงฟังดูเหมือนนิยายที่ผมแต่งขึ้น แต่เป็นเรื่องจริง นี่แหละคนมีความรู้มากมาย เสียเงิน เสียเวลาไปเรียนถึงปริญญาเอก หลงตนเอง จนงานแค่นี้ก็คิดไม่ออก ยังมีหน้าไปตั้งกรรมการขึ้นมาสอบสวนอีก สอบสวนความเบาปัญญาของตนเอง ลุงบ้านนอกไม่จบ ป.4 ของผมดีกว่าเยอะ

ที่มา เสถียรพงษ์  วรรณปก  มติชน 26 กรกฏาคม 2550 หน้า 6

 


 Print   
 บทความที่เกี่ยวข้อง Minimize

 Print   
Copyright © 2008 by สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ