Back Office : | Login  

ขณะนี้คุณอยู่ที่หน้า : ผลงานวุฒิอาสา > องค์ความรู้
 บทความของวุฒิอาสา Minimize

Wednesday, June 18, 2008  
 สุนทรภู่
:: 21432 Views :: ด้านศิลปวัฒนธรรมและศาสนา

โดย...ผศ. นาม  ศิริเสถียร

         คิดว่าคงไม่มีใครไม่รู้จักสุนทรภู่ แต่จะรู้จักเข้าใจในผลงานของท่านได้มากน้อยเพียงใด นั่นอีกประเด็นหนึ่ง แต่ในบรรดาผลงานทั้งหลายของท่านที่มีทั้งนิราศ นิทาน สุภาษิต เสภา บทละคร และบทเห่กล่อมนั้น “พระอภัยมณี” นับเป็นผลงานชิ้นเอกของสุนทรภู่ ที่มีความโดดเด่น มีชื่อเสียงกล่าวขวัญกันมากที่สุด ใครได้ยิน ได้เห็นพระอภัยมณี ก็ต้องนึกถึงท่านสุนทรภู่ เป็นของคู่กัน เพราะได้นำเรื่องพระอภัยมณีมาเผยแพร่ในรูปแบบต่างๆ มากมาย อาทิ ภาพวาด หุ่นกระบอก ละครเวที ละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์ หนังสือ เป็นต้น ในส่วนของหนังสือ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้แปลเป็นภาษาอังกฤษและทำเป็นหนังการ์ตูน เรื่อง “สุดสาคร” ที่มีเพลงประกอบจ๊ะจิงจา เด็กๆ ก็ชอบกันทั้งเมือง

         พระอภัยมณี เป็นคำกลอนประเภทนิทาน มีความยาวถึง 64 ตอนหรือ 64 เล่มสมุดไทย ซึ่งนายเสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและประธานมูลนิธิสุนทรภู่ ได้กล่าวไว้ว่า “พระอภัยมณี” เป็นกวีนิพนธ์ที่ยาวที่สุดในโลก เพราะมีความยาวถึง 12,706 บท ในขณะที่บทประพันธ์เรื่อง อีเลียด (lliad) และโอเดดซี (Odyssey) ของฝรั่งที่มีความยาวที่สุดมีเพียง 12,500 บท เท่านั้น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ประทานพระมติไว้ในเรื่องชีวิตและงานของสุนทรภู่ว่า “ในหนังสือบทกลอนที่สุนทรภู่ได้แต่งไว้ ถ้าจะลองให้ผู้อ่านชี้ขาดว่าเรื่องไหนดีกว่าเพื่อน ก็น่าจะเห็นยุติกันโดยมากว่า เรื่องพระอภัยมณีเป็นเรื่องที่ดีที่สุด เพราะเป็นเรื่องยาว แต่งดีทั้งกลอนและความคิดผูกเรื่อง” นอกจากนี้ พระอภัยมณียังได้รับการยกย่องจากวรรณคดีสโมสรในรัชกาลที่ 6 ว่าเป็นยอดของวรรณคดีประเภทนิทานคำกลอน และในวงการศึกษาวรรณคดีก็ได้ตัดสินว่าเรื่องนี้เป็น “จินตนิยาย” ที่ทำให้สุนทรภู่ได้ชื่อว่าเป็น “จินตกวี” กล่าวคือท่านผูกเรื่องขึ้นโดยมิได้ลอกเค้ามาจากชาดก หรือนิยายพื้นเมืองเหมือนอย่างวรรณคดีไทยส่วนใหญ่นิยมเขียนกัน แต่มีเค้าโครงเรื่องที่แปลกและทันสมัย มีตัวละครและเหตุการณ์ที่ตื่นเต้น สนุกสนาน ชวนติดตามอยู่ตลอดเวลา เรียกว่าอ่านแล้วไม่อยากวาง อ่านจบแล้วก็อยากอ่านอีก ไม่รู้สึกเบื่อ ที่สำคัญได้แสดงให้เห็นถึงภูมิความรู้ของท่านอันยิ่งใหญ่ไพศาล ทั้งในเชิงปราชญ์ การประพันธ์ จินตนาการอันก้าวไกล ล้ำยุคเกินสมัยของท่านอย่างไม่น่าเชื่อ ขอเล่าเรื่องย่อของพระอภัยมณีให้อ่านอีกครั้งคงไม่ว่านะ เพราะบางคนอาจลืมไปบ้างแล้วก็ได้ ใครที่ยังไม่ลืมอ่านซ้ำก็ไม่รู้สึกเบื่อ ใช่ไหม

         เนื้อเรื่องย่อของพระอภัยมณีมีว่า พระอภัยมณีและศรีสุวรรณ เป็นโอรสท้าวสุทัศน์และนางปทุมเกสร กษัตริย์เมืองรัตนา ครั้นมีชันษาพอสมควร ได้จากเมืองไปศึกษาหาความรู้ พระอภัยมณีเรียนวิชาเป่าปี่ ศรีสุวรรณเรียนวิชากระบี่กระบอง เพราะไปเรียนวิชาดังกล่าวพระบิดาไม่โปรด สองพี่น้องจึงถูกขับออกจากเมือง ระหว่างทางไปพบกับผีเสื้อสมุทร ผีเสื้อสมุทรหลงรักพระอภัยมณีเลยลักพาตัวไปอยู่ด้วยกัน จนมีโอรสชื่อสินสมุทร ต่อมาหนีนางยักษ์และได้นางเงือกเป็นชายา มีโอรสชื่อสุดสาคร ครั้นต่อมาได้เข้าอภิเษกกับนางสุวรรณมาลี มีพระธิดาแฝด แล้วมาได้นางละเวงเป็นชายาอีกคน มีโอรสชื่อมังคลา ต่อมาในที่สุดพระอภัยมณีได้ออกบวช นางสุวรรณมาลีและนางละเวงก็ขอบวชด้วย สุดสาครสร้างอาศรมให้อาศัยที่ภูเขาสิงคุตร์

         เหตุการณ์ในเรื่องมีทั้งความรัก การต่อสู้ที่ตื่นเต้น สนุกสนาน ชวนอ่าน ไม่เบื่อ เพราะเรื่องท่านแบ่งเป็นตอนๆ เรื่องพระอภัยมณีนอกจากแสดงให้เห็นถึงความรอบรู้ในเรื่องต่างๆ ตลอดจนจินตนาการที่กว้างไกลของท่านสุนทรภู่แล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตของคนสมัยท่านได้เป็นอย่างดี ซึ่งมีผู้วิเคราะห์ วิพากษ์วิจารณ์ และนำเสนอเป็นเอกสารมากมาย แต่จะขอยกตัวอย่างบางส่วนที่เป็นความรอบรู้ทันสมัย มองการณ์ไกลและล้ำยุคของสุนทรภู่ อาทิ การให้นางละเวงเป็นราชินี กษัตริย์ครองเมืองลังกา เป็นจินตนาการที่ก้าวหน้า เพราะประเทศของเราไม่เคยปรากฏมีกษัตริย์เป็นสตรี ซึ่งท่านสุนทรภู่ได้เรื่องราวจากประเทศอังกฤษที่มีควีนวิกตอเรียเป็นประมุข ตรงกับรัชกาลที่ 3 ของไทยเรา และยังให้นางละเวงมีตราราหู ซึ่งตราราหูนี้เป็นแก้วที่กล่าวกันว่าไว้ที่ไหน ที่ตรงนั้นจะมีอากาศเย็นสบายไม่ร้อนไม่หนาว คือแอร์คอนดิชั่นในสมัยนี้ แต่สมัยนั้นไม่มี ท่านสามารถจินตนาการล่วงหน้าได้เป็นร้อยปี และพระเอกคือพระอภัยมณียังพูดได้ 3 ภาษาคือ ฝรั่ง จีนและจาม ดังคำกลอนที่ว่า

        “จะกล่าวถึงพระอภัยมณีนาถ กับองค์ราชกุมารชาญสนาม หัดภาษาฝรั่งทั้งจีนจามราวกับล่ามพูดคล่องทั้งสององค์” เป็นพระเอกที่ทันสมัย วิชาเป่าปี่ที่พระอภัยมณีเรียนก็เทียบได้กับการเรียนดนตรีในสมัยนี้ แต่เพลงปี่ของท่านเป่าแล้วคนฟังหลับทั้งกองทัพนี่สิ สุนทรภู่ยังให้สามพราหมณ์มีวิชาที่ก้าวหน้าล้ำยุคคือ “ข้าชื่อวิเชียร โมรา เจ้าสานน ทั้งสามคนคู่ชีวิตเป็นมิตรกัน แสวงหาตั้งเพียรเพื่อเรียนรู้ ได้เป็นคู่ศึกษาวิชาขยัน ได้รู้เรียกลมฝนคือคนนั้น ข้าแข็งขันยิงธนูสู้ไพริน ยิงออกไปได้ทีละเจ็ดลูก จะให้ถูกตรงไหนก็ได้สิ้น คนนั้นผูกเรือยนต์แล่นบนดิน อยู่บ้านอินทคามทั้งสามคน”

           จะเห็นได้ว่าวิชาของพราหมณ์ทั้งสาม การเรียกลมฝน การยิงธนูทีละเจ็ดดอกกำหนดเป้าหมายได้ รวมทั้งผูกเรือยนต์แล่นได้ทั้งบนดินในน้ำ คนอ่านนึกว่าไสยศาสตร์ เวทมนตร์ หากเทียบกับปัจจุบันจะเห็นชัดเจน เช่น การเรียกลมฝน คือการทำฝนเทียม ธนูก็เหมือนอาวุธเพียงลูกเดียวของสหรัฐอเมริกา ในสงครามอิรัก และรถสะเทินน้ำสะเทินบกก็พัฒนาไปไกล จะเห็นได้ว่าเมื่อ 200 กว่าปีท่านได้มองไกลมาถึงปัจจุบันได้อย่างหาที่ติมิได้ นอกจากความไพเราะของบทกลอนเนื้อเรื่องที่มีจินตนาการ ทำให้ผู้อ่านพระอภัยมณีได้รับความสนุกสนาน เพลิดเพลิน อีกสิ่งหนึ่งที่ท่านสุนทรภู่ได้ให้ผู้อ่านนำไปเป็นข้อคิด ยึดถือปฏิบัติตามในชีวิตประจำวันคือ สุภาษิตคำคมในเรื่อง เป็นคติสอนใจอย่างลึกซึ้ง ซึ่งคงมาจากประสบการณ์ชีวิตของท่านโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นความรักความชัง ความมีลาภยศ สรรเสริญ และความเสื่อม จากสิ่งดังกล่าว ซึ่งมีหลายประโยค ที่เรานิยมยกมาเป็นตัวอย่างอยู่เสมอ

สุภาษิตคำคม เป็นคติสอนใจอย่างลึกซึ้ง มีหลายประโยคที่เรานิยมยกมาเป็นตัวอย่างอยู่เสมอ ดังเช่น 

1

“เขาย่อมเปรียบเทียบความเมื่อยามรัก
แต่น้ำผักต้มขมชมว่าหวาน
ครั้นจืดจางห่างเหินไปเนิ่นนาน

แต่น้ำตาลก็ว่าเปรี้ยวไม่เหลียวแล”

  นางละเวงพูดกับพระอภัยมณี
2

“อันกำเนิดเกิดมาในหล้าโลกสุขกับโศกมิได้สิ้นอย่าสงสัย”

  สามพราหมณ์ปลอบศรีสุวรรณ
3 “หลงอะไรไม่เหมือนหลงทรงมนุษย์
ที่โศกสุดแสนเศร้าเสน่ห์หา”
  สามพราหมณ์พูดกับศรีสุวรรณ
4 “โบราณว่าถ้าเหลือกำลังลาก
ให้ออกปากบอกแขกช่วยแบกหาม”
  สามพราหมณ์พูดกับศรีสุวรรณ
5 “การนินทากาเลเหมือนเทน้ำ
ไม่ชอบช้ำเหมือนเอามีดขีดลงหิน”
  ศรีสุวรรณพูดกับนางเกสร
6 “ในเพลงปี่ว่าสามพี่พราหมณ์เอ๋ย
ยังไม่เคยชมชิดพิสมัย
ถึงร้อยรสบุปผาสุมาลัย

จะชื่นใจเหมือนสตรีไม่มีเลย

พระจันทร์จรสว่างกลางโพยม

ไม่เทียมโฉมนางงามพี่พราหมณ์เอ๋ย
แม้นได้แก้วแล้วค่อยประคองเคย
ถนอมเชยชมโฉมประโลมลาน”
  เพลงปี่ของพระอภัยมณี
7 “แล้วตรัสบอกลูกน้อยกลอยสวาท
เจ้าหน่อเนื้อเชื้อชาติดังราชสีห์
อันรักษาศีลสัตย์กัตเวที
ย่อมเป็นที่สรรเสริญเจริญคน
ทรลักษณ์อกตัญญุตาเขา
เทพเจ้าก็จะแช่งทุกแห่งหน
ให้ทุกข์ร้อนงอนหงอทรพล
พระเวทมนต์เสื่อมคลายทำลายยศ”
  พระอภัยมณีตรัสกับสินสมุทรและที่หยิบยกมาอ้างถึงบ่อยๆ คือตอนพระโยคีสอนสุดสาครเมื่อหลงกลชีเปลือย ตนถูกผลักตกเหวว่า
 8 “แล้วสอนว่าอย่าไว้ใจมนุษย์
มันแสนสุดลึกล้ำเหลือกำหนด์
ถึงเถาวัลย์พันเกี่ยวที่เลี้ยวลด
็ไม่คดเหมือนหนึ่งในน้ำใจคน
มนุษย์นี้ที่รักอยู่สองสถาน
บิดา มารดารักมักเป็นผล
ที่พึ่งหนึ่งพึ่งได้แต่กายตน
เกิดเป็นคนคิดเห็นจึงเจรจา
แม้ใครรักรักมั่งชังชังตอบ
ให้รอบคอบคิดอ่านนะหลานหนา
รู้อะไรไม่สู้รู้วิชา
รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี”
9 “ถึงม้วยดินสิ้นฟ้ามหาสมุทร
ไม่สิ้นสุดความรักสมัครสมาน
แม้เกิดในใต้ฟ้าสุธาธาร
ขอพบพานพิศวาสไม่คลาดคลา
แม้เนื้อเย็นเป็นห้วงมหรรณพ
พี่ขอพบศรีสวัสดิ์เป็นมัจฉา
แม่เป็นบัวตัวพี่เป็นภุมรา
เชยผกาโกสุมประทุมทอง
เจ้าเป็นถ้ำอำไพขอให้พี่
เป็นราชสีห์สมสู่เป็นคู่สอง
จะติดตามทรามสงวนนวลละออง
เป็นคู่ครองพิศวาสทุกชาติไป”
  พระอภัยมณีพลอดประโลมนางละเวง
10 “อันโศกอื่นหมื่นแสนในแดนโลก
มันไม่โศกลึกซึ้งเหมือนหึงผัว
ถึงเสียทองของรักสักเท่าตัว
ค่อยยังชั่วไม่เสียดายเท่าชายเชือน”
  นางสุวรรณมาลีครวญ
11 “เกี้ยวหญิงต้องด้านดื้อตามตื้อออด
  สินสมุทรเผด็จสวาทนางอรุณรัสมี
  "ไม่ถึงแก่กรรมทำอย่างไรก็ไม่ตาย
เถ้าถึงกรรมทำลายต้องวายปราณ"
  นางรำภาตอบนางละเวง

          ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนเล็กน้อย ที่นำมาเล่าให้ฟัง เพื่อระลึกถึงท่านสุนทรภู่ ผู้ริเริ่มแบบกลอนสุภาพนั้น จนท่านอื่นนำไปเป็นแบบอย่างจนถึงเดี๋ยวนี้ แบบกลอนของท่านเล่นสัมผัสใน ทำให้กลอนมีความไพเราะเพราะพริ้งมาก จึงมีผู้เรียกขานท่านว่า กวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ หรือบรมครูกลอนแปดบ้าง และเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2529 เป็นวันครบรอบ 200 ปีของท่าน องค์การยูเนสโก ได้ประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติให้ท่านเป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมของโลก เป็นสามัญชนคนแรกของประเทศไทยที่ได้รับเกียรตินี้

ดังที่ท่านได้ประพันธ์เอาไว้ "อันดีชั่วตัวตายเมื่อภายหลัง ชื่อก็ยังยืนอยู่ไม่รู้หาย"

ที่มา
1. เดลินิวส์ 14 มิ.ย. 2546 หน้า 20
2. จับประเด็น พระอภัยมณี เรื่องย่อสาระสำคัญและวรรคทองมหากวีสุนทรภู่ สุวิทย์ สารวัตร ก.พ.2546


 Print   
 บทความที่เกี่ยวข้อง Minimize

 Print   
Copyright © 2008 by สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ