Back Office : | Login  

ขณะนี้คุณอยู่ที่หน้า : ผลงานวุฒิอาสา > องค์ความรู้
 บทความของวุฒิอาสา Minimize

Tuesday, June 17, 2008  
 ความสำเร็จในชีวิต
:: 5602 Views :: ด้านศิลปวัฒนธรรมและศาสนา

โดย...ผศ. นาม  ศิริเสถียร

มนุษย์เราเกิดมาเป็นคนเหมือนกัน ถึงแม้จะเลือกเกิดมิได้ แต่การดำเนินชีวิตเราสามารถลิขิตได้ แม้โลกจะกว้างไกลแสนไกล แต่การดำเนินชีวิตหรือการเดินทางไปสู่จุดหมายของแต่ละคนนั้น ไม่มีใครนำเราไปหรอก แต่ละคนต้องวางแผนกันเอาเอง ผมคนหนึ่งที่เชื่อว่า ถ้าเราได้วางแผนไว้อย่างสุขุมแล้วค่อย ๆ เดินก็ย่อมสู่จุดหมายในชีวิตของแต่ละคน แต่ปัจจัยที่จะชี้นำให้ชีวิตถึงวัตถุประสงค์ของแต่ละคนนั้น ผมว่าจะต้องมีคุณธรรมที่นำสู่ความสำเร็จ หรือที่เรียกว่า อิทธิบาท 4 ซึ่งพออธิบายได้ดังนี้

1.  ฉันทะ ความพอใจ ใฝ่รักในงานที่จะทำอย่างสม่ำเสมอ คนเราถ้าทำด้วยใจรักย่อมมีความสุข เพลิดเพลิน ไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อย งานก็ย่อมสำเร็จด้วยดีเสมอ

2.  วิริยะ ความเพียร ขยันหมั่นประกอบการงานด้วยความอุตสาหะพยายาม เข้มแข็ง อดทน ไม่ท้อถอย

3.  จิตตะ ความคิด ตั้งจิตรับรู้ในงานที่ทำ และทำสิ่งนั้นด้วยความคิด เอาจิตฝักใฝ่ จดจ่อ ไม่ปล่อยใจให้ฟุ้งซ่านเลื่อนลอยไป

4.  วิมังสา คือ ความไตร่ตรอง ทดลอง ใช้ปัญญาใคร่ครวญตรวจสอบหาเหตุผล ข้อยิ่งหย่อนในสิ่งที่ทำ โดยรวมก็คือ มีการวางแผน วัดผล คิดค้นวิธีแก้ไขปรับปรุง เป็นต้น ถ้าใครทำงานตามอิทธิบาท 4 ทั้ง 4 ข้อ ดังกล่าวมาแล้ว ย่อมประสบความสำเร็จในงานที่ทำก่อให้เกิดผลดีแก่ชีวิต แต่มีคนจำนวนไม่น้อยที่การดำเนินชีวิตไม่ประสบความสำเร็จตามที่ตนตั้งใจไว้ ทั้งนี้ก็เพราะความขยัน ความเข้มแข็งของจิตใจ ความอุตสาหะพยายาม ความตั้งใจมีไม่มากพอ อาจมีปัจจัยภายนอกเข้ามารบกวน ตามหลักธรรมะ ท่านเรียกว่านิวรณ์ คือ เครื่องกั้นจิตมิให้บรรลุคุณงามความดี เปรียบเหมือนม่านหนามาปิดบังไว้ทำให้มองหลังม่านไม่รู้ว่ามีอะไร คือ มองไม่ทะลุปรุโปร่ง มองไม่เข้าใจสิ่งนั้นตามสภาพเป็นจริง ซึ่งมีอยู่ 5 ประการ

นิวรณ์ 5 มีดังนี้

1.  กามฉันทะ ได้แก่ ความหมกมุ่นมัวเมาในความสุข สนุกสบายทางเนื้อหนัง คือ ลุ่มหลงอยู่กับผู้หญิง ภาษาพระเรียกว่า กามฉันทะ คือ พอใจในกาม ติดอยู่กับความสุขระหว่างเพศ ต่างเพศ เพศเดียวกันก็มี หรือจากวัตถุนานาประการ อาทิ นาฬิกา เพชร เงิน หากไม่มีเงินจะซื้อก็วิ่งเต้นแสวงหา เพื่อให้ได้เงินมาทุกวิถีทาง ไม่คำนึงถึงความถูกต้อง ศีลธรรม ไม่มีหิริโอตัปปะ จึงมีการปล้น ฉกชิง วิ่งราว ฆ่ากันตายทุกวัน ทั้งนี้เพราะติดพัน พอใจ ในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสที่ปรารถนาพอใจ บางคนมีความอยากรุนแรง ใจกระวนกระวาย นอนไม่หลับก็มี โดยเฉพาะคนในวัยหนุ่ม-สาว จึงมีการฆ่ากันตาย กินยาตาย กระโดดตึกตายก็มีให้เห็นบ่อย ๆ ทั้งนี้เพราะความอยาก ความต้องการรุนแรง ตามืดตาลายมองอะไรไม่เห็น จึงเกิดปัญหาขึ้นในชีวิต ใครคิดได้ละเสียก็ย่อมมีความสุขจริงไหม

2.  พยาบาท คือ ความเจ็บใจในเมื่อคนอื่นทำให้เราไม่พอใจ แค้นใจ ผูกความเจ็บไว้ในใจ นึกแต่เรื่องนั้น และคิดว่ากูจะต้องไปฆ่า จัดการกับมันให้สาแก่ใจ เป็นเรื่องอาฆาตจองเวร ผลแห่งการพยาบาทคือฆ่ากันตาย ฟ้องร้องกันในศาลก็มีเยอะแยะ ความพยาบาทเป็นภัยอันยิ่งใหญ่ในมนุษย์ จึงเกิดการแตกแยก แตกร้าวในครอบครัว ในสังคม ความพยาบาทเป็นสิ่งที่เลวร้าย ถ้ามีอยู่ในใจใครแล้วผู้นั้นจะไม่มีความสุขใจ จะมีแต่อารมณ์ร้อน ร้าย รุนแรง คิดแต่จะแก้แค้น ไปทำร้ายเขา ถ้าไม่ทำกูมิใช่ลูกผู้ชาย ยิ่งคิดเพิ่มความโกรธให้รุนแรงมากยิ่งขึ้น พยาบาทเป็นตัวร้ายมาก มีขึ้นกับใครแล้วจะทำให้คนนั้นไม่บรรลุคุณงามความดี ไม่ก้าวไปไกล เหมือนโซ่เส้นใหญ่ที่ผูกขาดึงไว้ จะดิ้นรนอย่างไรก็ไม่หลุด ถ้าไม่ขจัดตัวพยาบาทออกไปจากใจ

3.  ถีนะมิทธะ ความง่วงเหงาหาวนอน เมื่อนั่งฟังเทศน์ ฟังเลคเชอร์ก็ง่วงความตั้งใจไม่มี นี่คือความง่วง นั่งหลับ ความตั้งใจสนใจในสิ่งนั้นไม่มี ความง่วงเกิดจากพักผ่อนไม่พอ รับประทานอาหารมากเกินไป ร่างกายอ่อนเพลีย สุขภาพไม่สมบูรณ์ ความง่วงไม่สามารถจะทำงานได้ ร่างกายซึม เงื่องหงอยจะต้องแก้ความง่วงให้หมดไป คือทำร่างกายให้สุขภาพแข็งแรง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ทำจิตใจผ่องใส เรียกสติกลับคืนมา

4.  อุทธัจจะกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่าน คิดโน่นนี่หาความแน่นอนไม่ได้ จิตไม่สงบ แบ่งออกได้เป็น 2 เรื่อง คือ ฟุ้งซ่าน และรำคาญ

4.1  ฟุ้งซ่าน คือ ใจไม่อยู่กับร่องกับรอย คิดอ่านใจมิได้อยู่กับตัว อาทิ ตัวอยู่บ้าน แต่ใจวุ่นไปโน่นนี่ นั่งหรือเดินใจลอยไปตามอารมณ์ ไม่หยุดใจ ไม่ยั้งใจ จึงมีทุกข์เพราะความฟุ้งซ่าน

 4.2  รำคาญ เป็นพวกขี้รำคาญด้วยเรื่องต่าง ๆ อาทิ แดดร้อนจัด ฝนตก เสียงดังก็รำคาญทั้งนั้น แม้กระทั่งเด็กร้องไห้ เพื่อนบ้านเปิดเพลงให้ฟังน่าจะยินดีมีเสียงเพลงให้ฟังด้วยก็ไปรำคาญอีก อยู่ในโลกนี้ไม่มีอะไรที่จะถูกใจเราคนเดียว ย่อมมีสิ่งถูกใจ ชอบ รัก พอใจและสิ่งไม่ถูกใจ น่าเกลียด น่าชังเป็นของคู่กันเสมอ ทุกสิ่งก็เป็นไปตามธรรมชาติ มันผิดที่เราต้องไปรับสิ่งเหล่านั้นด้วยความไม่รู้ไม่เข้าใจ แล้วนำมาปรุงแต่งให้เกิดความคิดฟุ้งซ่านขึ้นในใจ ทำให้เกิดความรำคาญขึ้นมา ลองทำเฉยนึกเสียว่า “ธรรมดา มันเป็นอย่างนั้นแหละ” พยายามทำใจให้เข้ากับสิ่งเหล่านั้นเสียบ้าง พอใจ วางเฉย ไม่รำคาญกับสิ่งที่ได้ยิน ได้เห็น ได้ฟัง ไม่อึดอัด ทำใจให้นิ่ง สงบก็จะดีเองแหละ จริงไหม

5.  วิจิกิจฉา คือ สงสัย แคลงใจ ลังเล ในสิ่งที่ปฏิบัติ บางทีก็สงสัยในเรื่องไม่ค่อยเข้าท่า อาทิ ตายแล้วเราจะไปเกิดเป็นอะไร ถามใคร หาหนังสืออ่านเท่าไหร่ก็ยังหาคำตอบที่เข้าใจดีไม่ได้ เพราะนรก สวรรค์ เป็นสิ่งเข้าใจได้ยาก มองไม่เห็นด้วยตา เหมือน นก ปู ปลา แต่ถ้าคิดว่า สวรรค์คือความสุข ความพอใจ ถูกใจ อย่างทำดีดีนั่นแหละก็พอเข้าใจได้ และนรกก็คือทุกข์ ไม่ถูกใจตรงกันข้ามกับสุข ก็พอเข้าใจได้ง่ายขึ้น จริงไหม

สรุปก็คือ นิวรณ์ 5 ทั้งกามฉันทะ พยาบาท ถีนะมิทธะ อุทธัจจะกุกกุจจะ วิจิกิจฉา หากมีในผู้ใดแล้ว ย่อมเป็นสิ่งกั้นไม่ให้ผู้นั้นเจริญก้าวหน้าและไม่มีความสุขในชีวิต ในครอบครัว วิธีแก้ที่ดีที่สุดคือ มองโลกในแง่ดี เข้าใจความเป็นไปของธรรมชาติ โลกเราย่อมหนีโลกธรรม 8 ไม่พ้น คือ มีสุขก็มีทุกข์ มีลาภก็เสื่อมลาภ มียศก็เสื่อมยศ มีสรรเสริญก็ย่อมมีนินทา เป็นของคู่กันเสมอ นี่แหละความเป็นจริงของโลกมนุษย์ เราควรมีธรรมะประจำใจที่สำคัญคือ

พรหมวิหาร 4 ธรรมประจำใจอันประเสริฐ ซึ่งมี

1. เมตตา คือ ความรัก ปรารถนาดี อยากให้เขามีความสุข มีจิตแผ่ไมตรีและคิดทำประโยชน์แก่เพื่อนมนุษยสัตว์ทั่วหน้า

2. กรุณา สงสาร คิดช่วยให้เพื่อนมนุษย์พ้นทุกข์ ใฝ่ใจที่จะปลดเปลื้องความทุกข์ของปวงสัตว์

3. มุฑิตา มีความยินดี เมื่อผู้อื่นอยู่ดี มีสุข มีจิตใจผ่องใสพลอยยินดี เมื่อเขาได้ดีมีความสุข

4. อุเบกขา ความวางใจเป็นกลางด้วยปัญญา มีจิตเรียบตรงไม่เอนเอียงด้วยรักและชัง

พรหมวิหาร 4 เป็นธรรมประจำใจอันประเสริฐ ช่วยทำจิตใจเราให้มีความสุขสงบมีความโอบอ้อมอารีต่อเพื่อนมนุษย์ แต่ธรรมที่ส่งเสริมคุณภาพจิตช่วยให้สุขภาพจิตดี ช่วยบำรุงจิตนั่นคือ โพชฌงค์ 7 เป็นธรรมที่ตรงข้ามกับนิวรณ์ 5 ซึ่งประกอบด้วย

1.  สติ ความระลึกได้ คุมจิตไว้กับสิ่งที่เกี่ยวข้องที่จะต้องทำในเวลานั้น จะช่วยให้ทำงานตรงตามเป้าหมาย

2.  ธรรมวิจัย หมายถึง การใช้ปัญญาสอบสวน พิจารณาสิ่งที่สติกำหนด คิดไตร่ตรองให้เข้าใจความหมาย

3.  วิริยะ ความเพียร ความแกล้วกล้า เข้มแข็ง กระตือรือร้นในการทำงาน มีกำลังสู้ บากบั่น ไม่ท้อถอย ท้อแท้

4.  ปิติ ความอิ่มใจ ความอิ่มเอิบปลาบปลื้ม ปรีดิ์เปรม ดื่มด่ำ ซาบซึ้ง แช่มชื่น

5.  ปัสสัทธิ ความสงบกายใจ เยือกเย็น ไม่เครียด

6.  สมาธิ ใจตั้งมั่น มีอารมณ์หนึ่งเดียว แน่วแน่ต่อสิ่งที่จะทำ สม่ำเสมอ ไม่ฟุ้งซ่าน

7.  อุเบกขา ความวางเฉย มีใจเป็นกลาง ไม่สอดแส่ นิ่ง สงบ แนวทางการดำเนินชีวิตให้บรรลุเป้าหมายหรือประสบความสำเร็จจะต้องมีความรัก ขยันหมั่นเพียร อุตสาหะพยายาม คือ อิทธิบาท 4 และลด ละ เลิกความลุ่มหลง มัวเมา ฟุ้งซ่าน พยาบาท ลังเล คือนิวรณ์ 5 ให้ได้ แล้วมุ่งมั่นตั้งสติ ใช้ปัญญา ฝึกจิตให้เข้มแข็ง สู้งาน มีสมาธิที่มั่นคง คือ ถือปฏิบัติโพชฌงค์ 7 ด้วยความมุ่งมั่น ผมเชื่อว่าทุกคนก็จะประสบความสำเร็จในชีวิตที่ดีงามทุกคน ครอบครัวก็ย่อมมีความสุขเป็นพลเมืองดีของชาติได้อย่างสมศักดิ์ศรี ย่อมไม่เสียชาติเกิดจริงไหม

      เอกสารประกอบการเขียน

1.  ครบรอบ 70 ปี  นาม  ศิริเสถียร  31 พ.ค. 2545

2.  ส.ค.ส. 2539  วัดชลประทานรังสฤษฎ์

3.  ส.ค.ส. 2547  วัดชลประทานรังสฤษฎ์

4.  พุทธธรรม พ.ศ. 2538  พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุต.โต) มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย


 Print   
 บทความที่เกี่ยวข้อง Minimize

 Print   
Copyright © 2008 by สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ