Back Office : | Login  

ขณะนี้คุณอยู่ที่หน้า : ผลงานวุฒิอาสา > องค์ความรู้
 บทความของวุฒิอาสา Minimize

Tuesday, June 17, 2008  
 ผมเป็นใคร
:: 4273 Views :: ด้านการพัฒนาสังคม / ท้องถิ่น / ชุมชน

 โดย...ผศ. นาม  ศิริเสถียร

ผมเป็นคนประเภทไหน

                 เราลองมาคิดให้ดีเถอะครับ ว่าคนเรานี้มีอะไรเป็นนาย หรือเป็นใหญ่ “ใจ” ใช่ไหมครับ ฉะนั้นที่เรามาอุปโลกน์กันว่า “คน” “มนุษย์” บัณฑิต หรือปัญญาชน อะไรล่ะครับ ที่เป็นตัวทำให้แตกต่างกันตั้งเยอะแยะ ผมก็ไม่ทราบว่าท่านผู้ที่เรียกตัวเองว่าปัญญาชนนั้นเอาอะไรมาเป็นมาตรการวัดคุณค่าของคำว่า “ปัญญาชน” หรือพวกมนุษย์ ถ้าจะแปลตามภาษาชาวบ้านก็คงได้ความว่าปัญญาชน คือผู้ที่มีความรู้ ได้เล่าเรียนในมหาวิทยาลัย วิทยาลัย จบปริญญาตรี โท เอก หรือดำรงตำแหน่งใหญ่โตในวงราชการและธุรกิจ หรืออะไรต่ออะไรอีกเยอะแยะ (นี่เป็นเพียงความคิดเห็นของผู้เขียนนะครับ ในทัศนคติที่นึกคิดกันทั่วไป) แต่ผมคิดว่าการได้รับการศึกษาสูงเพียงอย่างเดียว จะเอามาเป็นมาตรการวัดคุณค่าของคนยังไม่พอเพียงและหาความเป็นธรรมไม่ ผมรักเคารพนับถือผู้ที่ได้รับการศึกษาดีมากกว่าผู้ที่ได้รับการศึกษาสูง แต่ในสังคมปัจจุบันส่วนใหญ่นับถือคนที่ได้รับการศึกษาสูง มียศถาบรรดาศักดิ์มีเงินมากกว่าผู้ที่ได้รับการศึกษาดี หรือเข้าประเภทที่ว่า “มีเงินมีทองก็พูดได้ มีไม้มีไร่ปลูกเรือนงาม” (จากเวชสันดรชาดกถ้าจำไม่ผิด) ผมเกริ่นมาเสียนาน ถ้าขืนไม่รีบรวบรัดเข้ามาเกรงจะบานปลายหุบเข้าหาเนื้อเรื่องที่จะเขียนไม่ได้อีก ผมสังเกตดูพฤติกรรมของคนตั้งแต่ผมเด็ก ๆ จนถึงปัจจุบัน ผมก็พอจำแนกออกได้เป็น 3 ประเภทด้วยกัน  โดยจำแนกตามพฤติกรรมในการดำเนินชีวิตเท่าที่พอสังเกตได้ แต่วิธีการจำแนกนี้อาจจะตรงกับความคิดเห็นของท่านผู้ใดบ้างผมมิอาจทราบได้ แต่ใคร่ให้ผู้อ่านทนอ่านไปจนจบเถอะครับ แล้วลองพิจารณาด้วยความเป็นธรรม อย่าลำเอียงเข้าตัวเองมากเกินไปนะครับ เพราะมันเป็นการง่ายมากที่จะคิดเอาว่าเราดีกว่าผู้อื่น จริงไหมครับ และการจำแนกประเภทนี้ผมจัดเอาตามความคิดเห็นของผมเองโดยเอาตัวผมเป็นมาตรการในการวัด อือมันมิมากไปหรือครับ ที่อุปโลกน์ตัวเองไปจัดจำแนกคนทั้งประเทศหรือทั่วโลก ใครจะว่าอย่างไรก็เชิญเถอะครับ สมัยประชาธิปไตยทุกคนมีสิทธิคิดวิจารณ์ได้ ผมก็ขอสิทธิ์นี้กับเขาบ้าง จริงไหมครับ สรุปเองง่าย ๆ แบบนี้แหละ

1.  ดีประเภทแรก คือ คนที่มีหิริโอตตัปปะ ต้องแปลไหมครับ แปลก็ได้เผื่อน้อง ๆ บางท่านที่บ้าน (ใจ) อยู่ห่างธรรม รวมความว่ามีความละอายแก่ใจและเกรงกลัวในการที่จะประพฤติชั่วทั้งปวง ชั่ว คืออะไร เอ๊ะ น่าคิด มีความหมายแค่ไหน หากใครอยากรู้เพิ่มเติมก็ลองหาหนังสือของท่านพุทธทาสภิกขุก็แล้วกัน คนประเภทนี้มีธรรมประจำใจสูงจะไม่ยอมปฏิบัติในสิ่งที่ผิดทำนองคลองธรรมเป็นอันขาด ไม่ว่าจะมีผู้เสนอด้วยอามิสสินจ้างหรือจะเอาลาภยศมาเสนอก็ตาม จะพยายามหลีกเลี่ยงจนสุดความสามารถ คนดีประเภทนี้มีอุดมการณ์ของตนเองในการทำงาน เพื่อมุ่งให้งานจักเกิดผลประโยชน์แก่ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง เขามีจิตบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่หวังในลาภยศที่ได้มาผิดศีลธรรมเป็นเด็ดขาด เรียกว่าใครมี บุตร สามี ภริยา เป็นคนประเภทนี้นั่นแหละคือสวรรค์ ไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นคน หรือจะพูดว่าไม่เสียชาติเกิดก็ได้ เพราะบุคคลประเภทนี้จะอยู่ในหน่วยงานใด ตำแหน่งใด ย่อมทำให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชามีแต่รัก เคารพนับถือ ประดุจพ่อแม่ ผู้บังเกิดเกล้า และหน่วยงานนั้นจะเจริญรุ่งเรืองโดยปราศจากความวุ่นวายใด ๆ ทั้งสิ้น แต่อนิจจา คนดีประเภทนี้จะมีสักกี่คนในหน่วยงานของรัฐ บริษัท และจะมีสักกี่รายในประเทศไทยอันเป็นที่รักยิ่งของเราและจะมีสักกี่เปอร์เซ็นต์ของคนในโลก คิดว่าควรจะมีมากในเพศภิกษุเท่านั้น ถ้าท่านเป็นภิกษุที่จิตสะอาด จิตปราศจากโมหะ โทสะ และโลภะ หรือจิตที่สะอาด สว่าง สงบ ฯลฯ

2.  ดีประเภทที่ 2 คนดีประเภทนี้มีมากในเมืองไทย และคิดว่ามีมากพอสมควรทีเดียว มีทุกหน่วยงานลอง ๆ แอบมองเถอะครับ เขามีความหนักแน่นพอสมควร คือสามารถหักห้ามจิตมิให้แสวงหาหรือหาช่องทางในการกระทำชั่ว แต่คนพวกนี้หากเจอช่องทางฟลุ๊คที่จะทำและคิดว่าผู้อื่นไม่รู้ (แต่อย่าลืมว่าเขาไม่แสวงหาและไม่เสาะหา) หรือผู้อื่นเขารู้เท่าไม่ทันก็จะกระทำทันทีแหละ และจะทำอย่างมีแผนสุขุม แต่ในสายตาของคนทั่วไป เขาจะเป็นยอดของสุภาพบุรุษ หรือยอดของกัลยาณีเลยเชียวแหละ ถ้าจะยืมฝรั่งเขามาพูดสักคำก็คงว่าเขา Nice ครับ  ก็คงจะไม่ผิด คนประเภทนี้ถ้าคบดูผิวเผินจะน่าศรัทธาเลื่อมใสมากกว่าประเภทแรก เพราะเอาใจคนเก่ง พูดก็เพราะอ่อนหวานสุภาพเชียวแหละ แต่อย่าลืมเขามีดีอยู่อย่างเดียว คือ รู้จักทำชั่วโดยคิดว่าผู้อื่นไม่รู้ จะไม่ทำถ้าจังหวะโอกาสไม่อำนวย และไม่ใฝ่หาที่จะทำชั่ว จะทำต่อเมื่อเจอจังหวะดี ๆ เรียกว่า เขาเป็นคนดีเพราะมีความชั่วน้อย หรืออาจจะทำชั่วมากก็ได้แต่คนส่วนใหญ่ยังไม่ทราบ หรือเรียกว่าเขามีศิลป์ในการปิดบังความชั่วได้ดีเป็นเลิศเท่านั้นเอง  อันที่จริงการกระทำชั่วหรือดี ย่อมมีคนรู้ทั้งนั้นคิดดูให้ดีเถอะ ถึงแม้คนอื่นเขาจะไม่ทราบว่าตนได้กระทำชั่ว แต่คนที่ทราบดีอยู่แก่ใจคือตัวคุณเอง เรียกว่า มีบาปติดตาตรึงใจอยู่เชียวแหละครับ จริงไหม

3.  ดีประเภท 3 คือคนสามัญทั่วไป คิดว่ามีมากที่สุดในดีทั้งสองประเภทที่ได้กล่าวมาแล้ว ความวุ่นวายของสังคมในครอบครัว ในหน่วยงานและในกลุ่มรัฐบาลเองที่ต้องประสบอยู่ทุกขณะก็เพราะมีคนประเภทนี้อยู่มากกว่าประเภทที่สองและประเภทที่หนึ่ง จริงไหมครับ ทำไมจึงกล้าพูดได้ว่ามีมากก็เพราะคนทั่วไปจิตมีโมหะ โลภะ และโทสะประจำใจ เนื่องจากคนขาดธรรมทั้งที่ในเมืองไทยมีวัดเยอะแยะแต่เป็นการทำบุญที่ผิดจุด ส่วนใหญ่ทำบุญเพื่อพรมน้ำมนต์ สวดขอพร แต่งงาน ขึ้นบ้านใหม่ เปิดร้านหรือสะเดาะเคราะห์ ฯลฯ เหล่านี้เป็นต้น โดยทำบุญด้วยวัตถุอย่างเดียว ไม่เคยใช้ธรรมขัดหรือขูดจิตใจเลย สนิมจึงกัดเกาะกินหัวใจจนกร่อนจึงยากที่จะแก้ไข เมื่อใจเป็นสนิมอย่างนี้ ก็ควรหาหนังสือ “สนิมในใจ” ของใครก็ไม่ทราบ (ลืมไปแล้ว) มาอ่านเสียบ้าง เผื่อใจจะหายเป็นสนิม ผมไม่เคยได้อ่านหนังสือเล่มนี้เลย เพราะใจผมไม่มีสนิม นั่นแน่ ดีจริงๆ ผมก็ต้องดีทุกอย่างเป็นของธรรมดาจริงไหมครับ

คนประเภทที่สามนี้ มีความเห็นเรื่องส่วนตนเป็นอันดับแรก คือจะทำทุกวิถีทางหรือทุกอย่างเพื่อให้ผลที่เกิดขึ้นมาเป็นประโยชน์ของตนเองเพื่อพวกพ้อง เพื่อพรรคพวกของตนเท่านั้น  คนประเภทนี้รูปร่างเป็นคนแต่จิตใจไม่ต่างอะไรกับสัตว์เดียรัจฉาน เรียกว่า เสียชาติเกิด เขาเกิดมาเพื่อสร้างตนเองจริง ๆ แหละครับ และคนประเภทนี้จะพยายามแสวงหา เสาะหาวิธีการ ช่องทาง ไม่ว่าจะผิดศีลธรรม แต่ถ้างานอันใดที่จะยังประโยชน์ให้เกิดขึ้นกับตนเองหรือพรรคพวกเป็นจะต้องยินดีร่วมงานหรือทำทันที นี่แหละผมจึงว่ามันวุ่นเพราะคนประเภทนี้มีอยู่มากในเมืองไทย จึงเป็นการยากที่จะปราบพวกโกงกินทั้งหลายให้หมดสิ้นไป ไม่มีวิธีการอันใดจะช่วยขจัดปัญหาเหล่านี้ให้น้อยหรือหมดไปได้ ถ้าปราศจาก “ธรรม” ถ้าทุกคนมี “หิริโอตตัปปะ” เพียงตัวเดียว มีคุณค่ายิ่งกว่ากฎหมายหรือบทลงโทษอื่นๆ อีกเยอะแยะ และมีความสันโดษคือรู้จักพอกันบ้าง

และถ้าคนประเภทนี้มีบทบาทอยู่ในสังคมหรือในวงธุรกิจ รัฐบาล หรือองค์การมันก็จะวุ่นวายมากขึ้น บางท่านพูดว่าการโกงกินจะหมดสิ้นไปหากทุกคนพอมีอันจะกิน ผมว่าเรื่องเงินจริงอยู่เป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต เงินเป็นส่วนประกอบให้ชีวิตมีความสุขแต่ยอดแห่งความสุขที่แท้จริงมิใช่เงิน จริงไหมครับ แต่ใจเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่า เพราะเงินขนาดไหน เท่าไหร่ จึงเรียกว่า “พอ” ความพอของทุกคนไม่เหมือนกัน ในเมืองไทยนี้ไม่มีคนรวยมีแต่คนจนๆ ทั้งนั้น อาทิ อย่างพวกผมนี้จนเพราะไม่มีจะกิน หรือพอมีพอกิน แต่อีกประเภทหนึ่งจนเพราะมีไม่รู้จักคำว่าพอ จริงไหมครับ ทุกคนที่เป็นข้าราชการหรือลูกจ้างก็ตาม ผมกล้าพูดได้ว่าเงินเดือนที่ได้รับควรจะพอดำรงชีวิตได้ตามอัตภาพ ถ้าเขารู้จักตน รู้จักกาล รู้จักประมาณ และรู้จักเวลา จริงไหมครับ คือรู้ว่าเราคือใคร ควรจะอยู่อย่างไรให้เหมาะกับสภาพที่เราควรจะเป็น พยายามตัดของฟุ่มเฟือยทุกอย่างที่เราต้องการ แต่เกินความจำเป็น อาทิ ห้องอาหารราคาแพง เหล้า บุหรี่ ลิโพ ฯลฯ เรียกว่าหยุดพวกเริงรมย์ทั้งหลายให้น้อยลงตามอัตภาพ หรือถ้าใครตัดได้หมดเลยยิ่งเยี่ยมมาก ขอเพียงให้น้อยลงรู้จักตนเองก็พอครับ แค่นี้แหละปัญหาทางเศรษฐกิจก็จะดีขึ้น ผมคิดว่ารัฐบาลน่าจะหาทางออกกฎหมายจำกัดพวกสถานเริงรมย์ทั้งหลายให้น้อยลง เช่น พวกไนต์คลับ โบว์ลิ่ง โรงอาบ อบ นวด ร้านอาหารที่มีนักร้อง โรงแรมที่มีผู้หญิงหากินแอบแฝงอยู่ ตราบใดที่สถานที่เหล่านี้มาก เป็นช่องทางชักนำให้คนฟุ่มเฟือย ใช้เวลาว่างไปในทางเสเพลมากยิ่งขึ้น ผมว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่คนฟุ่มเฟือย ฟุ้งเฟ้อมากที่สุดในโลก คนใหญ่ๆ โตๆ ไม่มีใครรู้จักคำว่า “พอ” ตราบเท่าที่ยังมีโอกาส จังหวะ  เวลาที่จะตักตวงเอาได้ จริงไหมครับ ชักจะเลยเถิดไปเสียแล้วซิ บางครั้งผมเองคิดว่าผมอยู่ในจำพวกประเภทแรก แต่บางเวลาทำไมจิตใจผมวุ่นวาย วกวนจนบอกไม่ถูก คิดนอกลู่นอกทางไปในทางผิดศีลธรรมทั้งวัน คือเรียกว่ามโนกรรมไม่ดีเลยเชียวละ แต่กลับมาคิดว่าทำไมหนอใจเราจึงเป็นไปได้ถึงเพียงนี้ เอาธรรมสักกี่กระบุงมาชโลมก็ไม่สามารถหยุดยั้งได้ บางทีคิดเลยเถิดไปถึงว่า ถ้ามีโอกาสจังหวะดีๆ ไม่มีใครรู้เราจะทำอย่างนั้นบ้าง เพราะคนอื่นๆ ที่เรารักนับถือเยอะแยะทำไมเขายังทำได้ ไม่มีความละอายใจเลย แต่ก็โชคร้าย โชคร้ายจริงๆ ครับ คือผมยังไม่มีโอกาสเหล่านั้นอำนวยให้ ถ้ามีโอกาสจังหวะดีๆ เกิดขึ้น ผมไม่ทราบเหมือนกันว่าผมจะยับยั้งใจอันเลวร้ายกาจของผม (บางเวลา) ไว้ได้หรือเปล่า ใจอยากลองเหมือนกันว่าคนอย่างผมจะหยุดจิตของผมได้จริงๆ หรือเปล่า เมื่อถึงโอกาสอันนั้นเข้าจริงๆ ไม่ไว้ใจตนเองเหมือนกัน เพราะกาลเวลาสามารถจะเปลี่ยนแปลงจิตใจของคนได้ ผมจึงไม่เชื่อใครในโลกนี้ เหตุเพราะสิ่งที่แน่นอนตั้งอยู่บนรากฐานของความไม่แน่นอนจริงไหมครับ ผมจึงไม่เชื่อตัวผมเองว่าจะประพฤติและประกอบกรรมในสิ่งที่ดีที่งามตลอดไปจนผมตายแต่จะพยายามทำวันนี้ให้ดีที่สุด อย่าลืมนะครับคนที่เจริญแล้วถ้ายกย่องสรรเสริญจะต้องประกอบด้วย :

1.  คิดอะไรใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์แก่สังคม

2.  คิดแล้วก็ทำสิ่งใหม่ ๆ ไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้ใช้ประโยชน์ หรือ

3.  รักษาขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามไว้ให้ลูกหลานสืบต่อไปนี่คือคุณค่าของคน ยิ่งเขียนยิ่งมาก ยิ่งสรุปลงไม่ได้เลยว่า ตัวผมเองนี่ก็เป็นคนประเภทไหนกันแน่ ท่านละครับลองพิจารณาดูทีเถอะครับ แล้วกระซิบผมบ้าง สวัสดี


 Print   
 บทความที่เกี่ยวข้อง Minimize

 Print   
Copyright © 2008 by สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ