Back Office : | Login  

ขณะนี้คุณอยู่ที่หน้า : ผลงานวุฒิอาสา > องค์ความรู้
 บทความของวุฒิอาสา Minimize

Tuesday, June 17, 2008  
 การทำให้เยาวชนมีจริยธรรมต้องใช้ "สมบัติผู้ดี" เป็นเครื่องมือ
:: 11794 Views :: ด้านการพัฒนาสังคม / ท้องถิ่น / ชุมชน

โดย...ชาลี   ศิลปรัศมี

 

ความนำ

ผู้ปกครองประเทศทุกฝ่ายเป็นห่วงเป็นใยเยาวชนปัจจุบันว่า  “ทำตัวไร้ค่า”  และมีปัญหาการสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมไทยไปสู่อนาคตโดยเฉพาะ  “แนวคิด”  ที่จะสืบทอดการพัฒนาประเทศที่แสดงออกถึงประเทศที่มีอารยธรรมเก่าแก่เพราะเยาวชนปัจจุบันรับเอาวัฒนธรรมตะวันตกที่เป็นความคิด  “วัตถุนิยม”  และ  สังคมผู้บริโภค”มากเกินไป

แนวคิดการสร้างจริยธรรม

แนวคิดการสร้างจริยธรรมของรัฐบาลไทยทุกสมัยที่ผ่านมา  มักจะคิดอยู่ในแวดวงและเงื่อนไขจำกัดด้วยเอาปรัชญาความเชื่อทางศาสนาพุทธมาเป็นหลัก  ทุกคนทุกฝ่ายจึงเห็นด้วยกับการ  “บังคับ”  ให้เด็กเรียนรู้เรื่อง  หลักธรรมะ  ของศาสนาพุทธจนดูซ้ำซ้อนกันมากมายหลายวิชา  เช่น  วิชาพระพุทธศาสนาซึ่งเรียน  อิทธิบาท 4  วิชาสังคมศึกษาก็เรียน  อิทธิบาท 4  นี่คือตัวอย่าง  ยิ่งกว่านั้นยังซ้ำซ้อนจำเจวกเวียนวกวนอยู่แต่เรื่องให้คนทำดี  จนเยาวชนหรือคนไทยทั่วไปเอือมระอากับการทำดีจนกลายเป็นคนทำชั่วจนไม่รู้ตัวเพราะการทำดีมันได้  “เบลอ”  จนมองภาพไม่ชัด  ดังนั้นการสร้างเยาวชนให้มีจริยธรรมแบบไทย  โดยใช้พระพุทธศาสนาเป็นแกนนำหรือเป็นหลัก  ผู้เขียนไม่เห็นด้วย


เครื่องมือจริยธรรม

เครื่องมือที่ใช้สร้างจริยธรรมให้เกิดขึ้นในตัวตนของเยาวชนน่าจะเป็นเรื่องต่อไปนี้

1.  “สมบัติผู้ดี”  ของเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี  (มรว. เปีย   มาลากุล)
2.  ประวัติศาสดาและหลักธรรม  ศาสนาที่นักเรียนนับถือ
3.  กฎและคำปฏิญาณลูกเสือ
4.  ปรัชญาของชาติและปรัชญาการศึกษา
5.  ปรัชญาการศึกษาของโรงเรียน
6.  คำสั่งสอนของบิดามารดา  ครูบาอาจารย์

ความเป็นจริง

ในความเป็นจริงโดยเฉพาะในโรงเรียนทุกระดับทุกสังกัดที่เป็นแหล่งใหญ่ในการผลิตเยาวชนออกสู่สังคมหรือเป็น  “โรงงาน”  ที่รัฐบาลถือหุ้น 100%  กลับให้ความสำคัญในการบริหารและการจัดการจริยธรรมน้อยมาก ใน 6 ประเด็นที่กล่าวมารัฐบาลกลับให้ความสำคัญเพียงประเด็นเดียวคือ  “พุทธศาสนา”  ซึ่งในหลักธรรมไม่ได้กำหนดบทบาท  พฤติกรรมไม่ให้ใส่เสื้อสายเดี่ยว  ไม่ปล่อยตัวให้ชายชม  นิยมวัตถุนิยมและเป็นสมาชิกสังคมบริโภคอย่างเดียวบริโภคแม้กระทั่งยาเสพติด  แต่ในทางดีมีสาระและควบคุมกำหนดได้  กลับอยู่ใน  “สมบัติผู้ดี”  แบบไทย  ที่มีตัวบทกฎระเบียบพูดไว้ชัดแจ้ง  แต่รัฐบาลและโรงเรียนกลับไม่สนใจเอง  เพราะคิดว่าเรียนจากที่อื่นแล้ว  “สมบัติผู้ดี”  จึงเป็นการแสดงแบบเพื่อรับรางวัลมารยาทไทยเท่านั้น

ชื่อที่ถูกเบี่ยงเบน

คนปัจจุบันโดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ  มักตีความวิเคราะห์เรื่องราวในอดีตด้วย  ความรู้สึกคนปัจจุบัน  แล้วเปลี่ยนแปลงสิ่งในอดีตให้เข้ากับความรู้สึกของตนสิ่งนั้นเลยถูก  “บิดเบือน”  ไปอย่างน่าเสียดาย  ยกตัวอย่าง  “สมบัติผู้ดี”  พ.ศ. 2527  ของกรมวิชาการ  กระทรวงศึกษาธิการมาพิมพ์จำหน่ายให้นักเรียนเลือกเรียนก็ตีความและวิเคราะห์ว่าคำนี้ขาด  คำบุพบทไปตัวหนึ่งคือ  คำว่า  “ของ”  ดังนั้นหนังสือเรื่องสมบัติผู้ดีของคิดว่าถูก  และเป็นชื่อที่ดูแล้วค่อนข้างจะผูกขาดเฉพาะคนดีมีตระกูล  “ผู้ชั่ว”  เลยถูกปล่อยปละละเลยไม่ให้เรียน  สมบัติผู้ดี

หรือในกรณี  ของทายาทวังปารุสก์  จะตีพิมพ์เรื่อง  “เกิดวังปารุสก์”  พ.ศ. 2535  แล้วออกข่าวว่าจะต้องเปลี่ยนชื่อใหม่  เป็น  “เกิดที่วังปารุสก์  เพราะหากไม่มีคำว่า  “ที่”  ดังชื่อเดิมจะไม่รู้ว่าเกิดที่ไหน  ว่าเข้านั่น  ดูแคลนคนตั้งชื่อเดิมและเจ้าของชื่อเดิมไปฉิบ  ดูเป็นการบิดเบือนประวัติศาสตร์ไปอย่างจงใจ  ด้วยความไม่รู้แท้ๆ

จริยธรรม

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 หน้า 217  ให้ความหมาย  คำว่า “จริยะ”  ไว้ว่า  กริยาอันควรประพฤติ  และหน้า  420  ให้ความหมายคำว่า  “ธรรมะ” ไว้ว่า  คุณความดี,  ความเป็นธรรมในสังคม  ดังนั้นความหมายรวมของคำว่า “จริยธรรม”  คือ  ความประพฤติที่เป็นธรรมในสังคม  หรือ  ความประพฤติที่เป็นตัวกลางในการปฏิบัติร่วมกันและทุกฝ่ายยอมรับได้

แต่ส่วนมากแล้วมักแล้วจะไปมุ่งเน้น  พุทธศาสนาและกริยามารยาทที่ถูกปรุงแต่งเพียงผาดๆ  เผินๆ  ที่สมควรแสดงออกให้สังคมยอมรับเท่านั้นทั้งในและนอกระบบโรงเรียน  หากเป็นภาระในสังคมสิ่งที่กล่าวมาแล้วกลับครอบคลุมไปไม่ถึง  สิ่งที่ครอบคลุมไปถึงจึงน่าจะเป็น  “สมบัติผู้ดี” ซึ่งเคยผ่านการเรียนรู้มาแล้วเป็นอย่างดี

สมบัติผู้ดี

            เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (มรว. เปีย   มาลากุล)  ได้วิเคราะห์วิจัย  กริยา  มารยาทไทยที่ชนชั้นสูงในราชสำนักประพฤติปฏิบัติและเห็นสมควรว่า  เป็นพฤติกรรมมารยาทที่คนไทยทั่วไปสมควรปฏิบัติได้อันจะเป็นแบบอย่างแก่บุตรหลานสืบไป  เพื่อช่วยกันสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมไทยนี้สืบไปโดยแบ่งออกเป็น 10 หมวดหรือ 10 ภาคคือ

ภาค    1       ผู้ดีย่อมรักษาความเรียบร้อย
ภาค    2       ผู้ดีย่อมไม่ทำอุจาดลามก
ภาค    3       ผู้ดีย่อมมีสัมมาคารวะ
ภาค    4       ผู้ดีย่อมมีกริยาเป็นที่รัก
ภาค    5       ผู้ดีย่อมเป็นผู้มีสง่า
ภาค    6       ผู้ดีย่อมปฏิบัติการงานดี
ภาค    7       ผู้ดีย่อมเป็นผู้ใจดี
ภาค    8       ผู้ดีย่อมไม่เห็นแต่แก่ตัวฝ่ายเดียว
ภาค    9       ผู้ดีย่อมรักษาความสุจริตซื่อตรง
ภาค    10     ผู้ดีย่อมไม่ประพฤติชั่ว

3  จริยา

          จากสมบัติผู้ดีที่กล่าวมาแล้ว 10 ข้อ หรือ 10 ภาค แสดงให้เห็นว่ากริยาที่แสดงออกมาของความเป็นผู้ดีนั้นมีทั้งด้านกาย  วาจาและใจ  หากเรียกเป็นคำศัพท์  ก็จะได้ว่า  กายจริยา  วจีกริยาและมโนจริยา  โดยวจี  คือ  คำพูด  หรือวาจา  มโน คือ  ใจ  ซึ่งทั้งกาย  วาจา  และใจจะต้องมี  จริยา  หรือ  ความประพฤติที่เป็นกลางทางสังคม  ดังนั้นคำว่า “ผู้ดี”  จึงหมายถึงบุคคลผู้มีความประพฤติดีทั้งทางกาย  ทางวาจาและทางใจควบคู่กันไปทั้ง 3 ด้าน ไม่บกพร่องเลยหรือบกพร่องน้อยที่สุดหรือครั้งต่อไปจะได้รับการพัฒนาไม่ให้บกพร่องเหมือนครั้งนี้  ก็จะเป็นคนที่มีมารยาทจนพัฒนาเป็นลักษณะนิสัยที่ยั่งยืนในตัวตนจนสามารถสืบทอดไปสู่ผู้อื่นได้นั่นเอง

ตัวอย่างสมบัติผู้ดีภาคที่ 1

 กายจริยา  เช่น     
1) ย่อมไม่อาจเอื้อมในที่ต่ำสูง
2) ย่อมไม่อื้ออึ้งในเวลาประชุมสดับตรับฟัง

วจีจริยา    เช่น    
1) ย่อมไม่ใช้วาจาอันหักหาญ ดึงดัน
2) ย่อมไม่ใช้ถ้อยคำหยาบคาย

มโนจริยา  เช่น    
1) ย่อมไม่ปล่อยใจให้ฟุ้งซ่านหยิ่งโยโส
2) ย่อมไม่บันดาลโทสะให้เสียกริยา

จากตัวอย่างที่ยกมานี้เป็นข้อบกพร่องอย่างฉกรรจ์ที่คนในสังคมปัจจุบันจะต้องสังวร  เพราะดูจะต้องปรับปรุงแก้ไขจริยาเหล่านี้อยู่เสมอ

ตัวอย่างสมบัติผู้ดีภาคที่ 2

กายจริยา  เช่น     
1) ย่อมไม่แต่งตัวในที่แจ้ง
2) ย่อมไม่จิ้ม ควัก ล้วง แคะแกะร่างกายในที่ชุมชน

วจีจริยา    เช่น      
1) ย่อมไม่กล่าวถึงสิ่งโสโครกฟังรังเกียจในท่ามกลางประชุมชน
2) ย่อมไม่กล่าวถึงสิ่งควรปิดบังในท่ามกลางประชุมชน

มโนจริยา  เช่น      
1) ย่อมพึงใจที่จะรักษาความสะอาด

จากตัวอย่างที่ยกมานี้เป็นข้อบกพร่องอย่างฉกรรจ์ที่คนในสังคมจะต้องสังวร  เพราะดูจะต้องปรับปรุงแก้ไขจริยาเหล่านี้อยู่เสมอ

ตัวอย่างสมบัติผู้ดีภาคที่ 3

กายจริยา  เช่น      
1) ย่อมนั่งด้วยกริยาสุภาพต่อหน้าผู้ใหญ่
2) แม้ผู้ใดเคารพตนก่อนต้องเคารพตอบทุกคนไม่เฉยเสีย

วจีจริยา    เช่น      
1) ย่อมไม่กล่าวร้ายถึงญาติมิตรที่รักใคร่นับถือของผู้ฟังแก่ผู้ฟัง
2) เมื่อตนทำพลาดพลั้งสิ่งใดแก่บุคคลใดควรออกวาจา ขอโทษ เสมอ

มโนจริยา  เช่น      
1) ย่อมเคารพยำเกรง บิดามารดาและครูบาอาจารย์
2) ย่อมมีความอ่อนหวานแก่ผู้น้อย

        จากตัวอย่างที่ยกมานี้เป็นข้อบกพร่องอย่างฉกรรจ์ที่คนในสังคมปัจจุบันจะต้องสังวรและดูจะต้องปรับปรุงแก้ไข  จริยาเหล่านี้ อยู่เสมอ

ตัวอย่างสมบัติผู้ดีภาคที่ 4

กายจริยา  เช่น       
1) ย่อมไม่ฝ่าฝืนเวลานิยม  เช่น  ที่เขานั่งไปยืน  ที่เขายืนไปนั่ง
2) ย่อมไม่ทำกริยารื่นเริงเมื่อเขามีทุกข์

วจีจริยา    เช่น       
1) ย่อมไม่ค่อนแคะติรูปกายบุคคล
2) ย่อมไม่พูดให้เพื่อนเก้อกระดาก

มโนจริยา  เช่น       
1) ย่อมมีความรู้จักงามรู้จักดี
2) ย่อมมีความเข้าใจว่องไวไหวพริบรู้เท่าถึงการณ์

        จากตัวอย่างที่ยกมานี้เป็นข้อบกพร่องอย่างฉกรรจ์ที่คนในสังคมปัจจุบันจะต้องสังวรและดูจะต้องปรับปรุงแก้ไขจริยาเหล่านี้อยู่เสมอ

ตัวอย่างสมบัติผู้ดีภาคที่ 6

กายจริยา  เช่น       
1) ย่อมไม่ถ่วงเวลาให้คนอื่นคอย
2) ย่อมไม่ทำการแต่ต่อหน้า

วจีจริยา    เช่น       
1) พูดสิ่งใดย่อมให้เป็นที่เชื่อถือได้
2) ย่อมไม่รับวาจาคล่องๆ  โดยไม่คำนึงถึงความเป็นไปได้

มโนจริยา  เช่น       
1) ย่อมไม่เป็นผู้เกียจคร้าน
2) ย่อมเป็นผู้ทำอะไรทำจริง

จากตัวอย่างที่ยกมานี้เป็นข้อบกพร่องอย่างฉกรรจ์ที่คนในสังคมปัจจุบันจะต้องสังวรและดูจะต้องปรับปรุงแก้ไขจริยาเหล่านี้อยู่เสมอ

ตัวอย่างสมบัติผู้ดีภาคที่ 7

กายจริยา  เช่น       

1) เมื่อเห็นใครทำผิดพลาดอันน่าเก้อกระดาก  ย่อมช่วยกลบเกลื่อนหรือทำไม่เห็น
2) เมื่อเห็นเหตุร้ายหรืออันตรายจะมีแก่ผู้ใดย่อมต้องรีบช่วย

วจีจริยา    เช่น       
1) ย่อมไม่เยาะเย้ยถากถาง  ผู้กระทำผิดพลาด
2) ย่อมไม่ใช้วาจาอันข่มขู่

มโนจริยา  เช่น        
1) ย่อมไม่มีใจอันโหดเหี้ยมเกรี้ยวกราดแก่ผู้น้อย
2) ย่อมไม่ซ้ำเติมคนเสียที

        จากตัวอย่างที่ยกมานี้เป็นข้อบกพร่องอย่างฉกรรจ์ที่คนในสังคมปัจจุบันจะต้องสังวรและดูจะต้องปรับปรุงแก้ไขจริยาเหล่านี้อยู่เสมอ

ตัวอย่างสมบัติผู้ดีภาคที่ 8

กายจริยา  เช่น       
1) ย่อมไม่รวบสามตะกรามสี่กวาดฉวยเอาของที่เขาตั้งไว้เป็นของกลาง  จนเกินส่วนที่ตนจะได้
2) ย่อมไม่ลืมที่จะส่งของ  ซึ่งคนอื่นได้สงเคราะห์ให้ตนยืม

วจีจริยา    เช่น       
1) ย่อมไม่นำธุระตนเข้ากล่าวแทรกในเวลาธุระอื่นของเขากำลังชุลมุน
 2) ย่อมไม่ใช้วาจาอันโอ้อวดตนและลบหลู่ผู้อื่น

มโนจริยา  เช่น        
1) ย่อมรู้คุณผู้อื่นที่ได้ทำแล้วแก่ตน
2) ย่อมไม่เกี่ยงงอน  ทอดการงานตนให้ผู้อื่น

        จากตัวอย่างที่ยกมานี้  เป็นข้อบกพร่องอย่างฉกรรจ์ที่คนในสังคมปัจจุบันจะต้องสังวรและดูจะต้องปรับปรุงแก้ไขจริยาเหล่านี้อยู่เสมอ

ตัวอย่างสมบัติผู้ดีภาคที่ 9

กายจริยา  เช่น        
1) ย่อมไม่ละลาบละล้วง เข้าร้องเข้าเรือนก่อนเจ้าของบ้าน อนุญาต
2) ย่อมไม่เที่ยวเปิดดูหนังสือ  ตามโต๊ะเขียนหนังสือของผู้อื่น

วจีจริยา    เช่น        
1) ย่อมไม่เที่ยวถามเขาว่านั่นเขียนหนังสืออะไร
2) ย่อมไม่เก็บเอาความลับของผู้หนึ่งมาเที่ยวพูดแก่ผู้อื่น

มโนจริยา  เช่น        
1) ย่อมไม่เป็นคนต่อหน้าอย่างลับหลังอย่างหนึ่ง
2) ย่อมเป็นผู้ตั้งอยู่ในความเที่ยงตรง

        จากตัวอย่างที่ยกมานี้เป็นข้อบกพร่องอย่างฉกรรจ์ที่คนในสังคมปัจจุบันจะต้องสังวรและดูจะต้องปรับปรุงแก้ไขจริยาเหล่านี้อยู่เสมอ

ตัวอย่างสมบัติผู้ดีภาคที่ 10

กายจริยา  เช่น         
1) ย่อมไม่ข่มเหงผู้อ่อนกว่า เช่น เด็ก  หรือผู้หญิง
 2) ย่อมไม่มั่วสุมกับสิ่งอันเลวทราม เช่น กัญชา ยาฝิ่น

                                      (ปัจจุบันต้องเพิ่มยาบ้าเข้าไปด้วย - ชาลี)

วจีจริยา    เช่น         
1) ย่อมไม่เป็นพาลพอใจทะเลาะวิวาท
2) ย่อมไม่เป็นผู้สอพลอประจบประแจง

มโนจริยา  เช่น          
1) ย่อมไม่คิดทำลายผู้อื่น เพื่อประโยชน์ตน
2) ย่อมเป็นผู้มีความละอายแก่บาป

        จากตัวอย่างที่ยกมานี้เป็นข้อบกพร่องอย่างฉกรรจ์ที่คนในสังคมปัจจุบันจะต้องสังวรและดูจะต้องปรับปรุงแก้ไขจริยาเหล่านี้อยู่เสมอ

พฤติกรรมที่ปรากฏ

                สำหรับพฤติกรรมที่ปรากฏของคนในสังคมไทยว่าจะสมบูรณ์หรือบกพร่องตามตัวอย่างสมบัติผู้ดีที่สุ่มมาให้ดูทั้ง 10 ภาค ก็สามารถให้คำตอบได้เป็นอย่างดีว่า  ทั้งเยาวชน  ผู้ใหญ่ชนและชราชนต่างก็บกพร่อง  “จริยา”  ทั้งทางกาย  วาจา  และใจกันเป็นส่วนมาก  การบกพร่องเช่นนี้ทำให้  “สังคม”  โดยส่วนรวมวุ่นวายสับสนไปด้วย  เพราะต้อง  “รองรับ”  ความประพฤติที่แปลกแยกของคนในสังคมมากมายเพื่อปรับปรน  ให้เข้ากันได้ที่จะหน่วงเหนี่ยววัฒนธรรมไทยอันมี  “สมบัติผู้ดี”  เป็นพื้นฐานจริยาพฤติกรรมให้พัฒนาการไปสู่สิ่งที่ดีกว่าอย่างมีระบบระเบียบและความเข้าใจร่วมกัน  ดังนั้นการศึกษาทุกระบบและทุกระดับที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ควรใช้  “สมบัติผู้ดี”  เป็นเครื่องมือในการฝึกอบรมให้กลุ่มเป้าหมาย  มีจริยาที่พึงประสงค์แบบไทยทั้งทางกาย  ทางวาจาและทางใจเป็นเชิงบังคับ  ในหลักสูตรมากขึ้นดีกว่าให้เลือกเรียนเลือกศึกษา  เพราะการอนุญาตให้เลือกเรียน  เลือกศึกษาก็เหมือนกับละเมิดหรือละเลย  “รากหญ้า”  ของความเป็นไทยแท้ในอดีตและอนาคตนั่นเอง

สรุป

                จากที่กล่าวมาแล้วทั้งหมดทำให้เกิดความคิดว่าการสร้างคนเพื่ออนาคตของชาติในปัจจุบันได้ทิ้ง  “สมบัติผู้ดี”  เครื่องมือที่วิเศษสุดในการฝึกอบรมและสร้างเสริมให้คนไทยรู้  เข้าใจ  อธิบายได้และปฏิบัติได้ในเรื่องจริยธรรมที่ต้องใช้  “สมบัติผู้ดี”  เป็นแนวทางสำคัญของการเดินไปสู่เป้าหมาย  นอกจากต้องบังคับให้เรียนทุกระบบการศึกษาและทุกระดับชั้นเท่านั้น  จึงจะควบคุมความคิดของคนในสังคมให้แต่งกายสุภาพ  แสดงออกอย่างสุภาพ  พูดอย่างสุภาพและคิดอย่างสุภาพถูกต้องจนไม่ละเมิดกฎหมายและศีลธรรม  ตลอดจนมีจิตใจดีเห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน  คิดช่วยเหลือผู้อื่นและสังคมไม่ใช่มองกลับตาลปัตรเห็นส่วนรวมเป็นส่วนตัว  เห็นส่วนตัวเป็นส่วนรวมดังปัจจุบันเพราะ  “พรรคพวก”  มามีอำนาจเบี่ยงเบนความคิดจนเห็น  “กงจักรเป็นดอกบัว”  กันทั่วไป  “สมบัติผู้ดี”  จึงดูจะเป็นเครื่องมือที่  “สงบนิ่งดังขุนเขา  แต่ทรงพลังอำนาจดั่งเทพเจ้า”  ที่นักการศึกษา  นักวิชาการ  ข้าราชการ  เยาวชนและประชาชนทั่วไปทุกอาชีพจะต้องหันกลับมามองอย่างรู้สึกสำนึกในบทบาท  อำนาจ  หน้าที่และคุณค่า  ของสมบัติผู้ดีกันสักครั้งหนึ่งก่อนตายอย่างน้อยก็ได้สรุปบทเรียนให้ตนเองรู้ว่า  ตนเองผิดจริยาข้อใดบ้าง  

 


 Print   
 บทความที่เกี่ยวข้อง Minimize

 Print   
Copyright © 2008 by สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ