Back Office : | Login  

ขณะนี้คุณอยู่ที่หน้า : ผลงานวุฒิอาสา > องค์ความรู้
 บทความของวุฒิอาสา Minimize

Tuesday, June 17, 2008  
 การปฏิรูปการเรียนรู้ “"ทัศนศึกษา"” เพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนวัฒนธรรมท้องถิ่น
:: 20263 Views :: ด้านการศึกษา

 โดย...ชาลี   ศิลปรัศมี

 

ความนำ

พระราชบัญญัติการศึกษาฉบับล่าสุดที่จะใช้อย่างจริงจังใน พ.ศ. 2545 เน้นการปฏิรูปการเรียนรู้และวัฒนธรรมท้องถิ่นมากที่สุดว่า ในท้องถิ่นมีภูมิปัญญาชาวบ้านหรือภูมิปัญญาท้องถิ่นใดใช้เรียนใช้สอนโดยใช้ “ผู้รู้” เฉพาะเรื่องในท้องถิ่นให้มีบทบาทเข้ามาสอนในโรงเรียนได้อย่างไร ที่จะปลูกฝังเยาวชนเหล่านี้ให้เป็นผู้สืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมท้องถิ่นสืบต่อไป

การปฏิรูปการเรียนรู้   

ดูจากลักษณะคำ “การปฏิรูปการเรียนรู้” หมายถึง การเรียนรู้เดิมใช้ไปได้ไม่ทันสมัย ไม่สามารถทำให้ผู้เรียน “ฉลาด” สมตามเจตนารมณ์ของหลักสูตร ดังนั้นในหลักสูตรใหม่หลายๆ ฝ่าย จึงต้องแสวงหาวิธีการใหม่ว่าต่อไปนี้เราต้องค้นหาแนวทาง วิธีการเรียนรู้ใหม่ๆ ที่ดีกว่าเดิมสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้จุดประสงค์ หรือประมวลประสบการณ์ที่ครูมอบให้เด็ก แล้วทำให้เด็กฉลาดมีปฏิภาณไหวพริบทันสมัยในเวลาอันรวดเร็วได้ดังใจ หรือผ่านกระบวนการการปฏิรูปการเรียนรู้ไปแล้วนั่นเอง

ทัศนศึกษา

ทัศนศึกษาตามรูปศัพท์เดิมแปลว่า “ไปดู-ไปเรียนรู้” แล้วรายงานปากเปล่าหรือรายงานการไปดู ไปเรียนรู้นั้นเป็นลายลักษณ์อักษร หรือ “รายงาน” เอาคะแนน

   

แต่สภาพปัจจุบันและที่ผ่านมาก่อนปัจจุบันนี้ ทุกโรงเรียนมักจะนำนักเรียน “ไปเที่ยว-ไปดู” มากกว่า “ไปดูเพื่อการศึกษาหาความรู้จากสิ่งที่ดูนั้น” (ทัศนศึกษา) เพราะครูที่นำเด็กไปกลับไม่รู้ในสิ่งที่ไปดู-ไปเรียนรู้ สภาพทั่วไปของการทัศนศึกษาจึงเป็นการไปเที่ยว ไปดู ไปช้อปปิ้งตามห้างฯ หากครูคนใดแหลมออกมาจะนำเด็กไปดูโบราณสถานโบราณวัตถุ พิพิธภัณฑ์ หอสมุดดังๆ ก็จะถูกครูคนอื่นว่า “ครึ” ไม่ทันสมัยทำให้เด็กโง่ลง สู้ไปห้างสรรพสินค้าไม่ได้ เพราะเด็กจะพบของทันสมัยทุกอย่าง เช่น บัตรคูปอง บันไดเลื่อน อาหารแบบบริการตัวเอง เกมไฟฟ้าทั้งหลาย เป็นต้น ครูที่จัดทัศนศึกษาแบบนี้เด็กนักเรียนมักจะมีพฤติกรรม “พรูขึ้น-พรูลง” คือ พอถึงเป้าหมายที่จอดเด็กก็วิ่งพรูลงมาสัมผัสกับสิ่งที่ต้องการ พอถึงเวลากลับจากสัญญาณของครูเด็กนักเรียนก็วิ่งพรูขึ้นรถจากไปหาที่ใหม่

 

ถามว่า “ทัศนะ” แล้วยัง ตอบว่า ทัศนะแล้ว

ถามว่า “ศึกษา” แล้วยังตอบว่า “ไม่” เพราะทั้งครูและนักเรียนไม่มีใครพูดถึงสิ่งที่ไปดูเป็นเชิงการเรียนรู้ วิเคราะห์ วิจารณ์ วิพากษ์ เพื่อให้เกิดข้อคิดและการนำเสนอคนอื่นในรูปแบบของเรื่องเล่าหรือรายงาน

วัฒนธรรมท้องถิ่น

วัฒนธรรม จะประกอบด้วย องค์ประกอบ 3 ประเด็นหลัก คือ พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์ และภูมิปัญญาชาวบ้าน ดังนั้นวัฒนธรรมท้องถิ่นจึงประกอบด้วย

1.  พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของท้องถิ่นนั้น

2.  เอกลักษณ์ของท้องถิ่นนั้น และ

3.  ภูมิปัญญาชาวบ้านของท้องถิ่นนั้น

จากพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่น  เอกลักษณ์เด่นๆ  ของท้องถิ่น และภูมิปัญญาชาวบ้านในท้องถิ่นนั้น รวมกับสภาพภูมิศาสตร์และสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติ ทำให้ชุมชนเกิดวัฒนธรรมในด้านการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจและสังคมที่มีรูปแบบเด่นชัดและสืบทอดกันมาทั้งที่ได้รับการยอมรับ และไม่ยอมรับจากสังคม จึงทำให้วัฒนธรรมบางอย่างพัฒนาเจริญงอกงามขึ้น และวัฒนธรรมบางอย่างก็สูญหายไปตามกาลเวลา ส่วนผู้ที่จะอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่นได้นั้น คือ ประชากรทุกรุ่นทุกวัยในชุมชนต้องช่วยกันผดุงวัฒนธรรมเหล่านี้ไว้สืบไป

ประเด็นย่อยในวัฒนธรรมท้องถิ่น

นอกจากประเด็นหลักที่กล่าวมาแล้ว ยังมีประเด็นย่อยในวัฒนธรรมท้องถิ่นมากมายที่นักเรียน และครู หรือผู้ที่ต้องการปฏิรูปการเรียนรู้ทัศนศึกษา  เพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนวัฒนธรรมท้องถิ่นได้ทราบไว้เป็นพื้นฐานของปัญญา คือ

1. ภูมิประเทศ

2. ทรัพยากรธรรมชาติ

3. การตั้งถิ่นฐานยุคสมัยต่างๆ

4. มรดกทางธรรมชาติ

5. มรดกทางวัฒนธรรม (หลักฐานทางประวัติศาสตร์)

6. ศิลปหัตถกรรม/งานช่างท้องถิ่น

7. ภาษาและวรรณกรรม

8. การละเล่นพื้นบ้าน/นาฏศิลป์

9. การทำมาหากิน

10. การรักษาโรค

11. การกินอยู่

12. ศิลปกรรม

13. ศาสนาและขนบธรรมเนียมประเพณี

14. การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

15. เอกลักษณ์ทางธรรมชาติ

16. เอกลักษณ์จากสถานการณ์บ้านเมือง และสภาพเฉพาะตัว

17. เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม

18. บุคคลสำคัญด้านต่างๆ  ตั้งแต่อดีต-ปัจจุบัน

จาก 18 ประเด็นที่กล่าวมา คือ เรื่องราวในท้องถิ่นในตำบล ในอำเภอและในจังหวัดฯ  ที่นักเรียนและครูจะต้องช่วยกันเรียนรู้หรือ “ไปดูและไปศึกษา” เพื่อซึมซับสิ่งเหล่านี้ให้เข้าอยู่ในจิตวิญญาณของการเรียนรู้และจิตวิญญาณของชีวิตในท้องถิ่นของเราให้ได้อย่าง “รู้ได้ เข้าใจได้ อธิบายได้และปฏิบัติได้” จนสามารถ “บอก-ต่อ” แก่บุคคลอื่นได้อย่างถูกต้องชัดเจน แต่ในสภาพความเป็นจริงจากหลักสูตร 2521 แก้ไขปรับปรุงใหม่ 2533 จนกระทั่งปี 2543 นี้ นักเรียนและครูในจังหวัดนครศรีธรรมราชของเรายัง “ไปดูเพื่อศึกษาหาความรู้จากสิ่งที่ดูนั้น” น้อยมาก และยังไม่เป็นระบบทั้งระดับโรงเรียน  ระดับอำเภอ  และระดับจังหวัด

รูปแบบของกระทรวงศึกษาธิการ

ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่การศึกษาของชาติจะลงลึกไปถึงการศึกษาขั้นพื้นฐานในปฐมวัยตั้งแต่ชั้น ป.1-6  และ ม.1-6  ที่จะต้อง “ปลูก-ฝัง”  เยาวชนของชาติให้เจริญงอกงาม ในด้านการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม จนสามารถเจริญเติบโตเป็นประชาชนที่ดีมีพฤติกรรมอันพึงประสงค์ตามสังคมยุคใหม่ แต่ไม่ลืมอดีตที่ต้องการ ดังนั้นกระทรวงศึกษาธิการจึงแตกตัวออกเป็น 3 ส่วน แต่อยู่ในกระทรวงเดียวกัน คือ “กระทรวงการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม” เพื่อเป็นการบอกใบ้ให้คนทั่วไป นักเรียนและครู ทราบว่า การเรียนหนังสือในโรงเรียนตามหลักสูตรนั้นทุกคนจะต้องเรียนรู้การศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรมเป็นตัวหลัก  เพราะฉะนั้นหากครูคนใด โรงเรียนใดจัด“ทัศนศึกษา” แบบ “พรูขึ้น-พรูลง” ตามที่กล่าวมาแล้วก็ไม่ตรงประเด็น วัฒนธรรมตามที่กระทรวงฯ ต้องการอีกต่อไป ดังนั้น ครู โรงเรียน อำเภอและจังหวัด ต้องปฏิรูปการเรียนรู้ ทัศนศึกษาเพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนโดยด่วน เดี๋ยวใครอื่นเขาจะมองว่า “ตก-ยุค”

สภาวัฒนธรรมอำเภอ

สภาวัฒนธรรมอำเภอมีศึกษาธิการอำเภอเป็นเลขาธิการ มีคณะกรรมการที่ได้รับการคัดเลือกโดยมีนายอำเภอเป็นประธานโดยตำแหน่ง แต่โอกาสต่อไปเมื่อท้องถิ่นมีอำนาจมากขึ้น ประธานอาจจะมาจากการเลือกตั้งก็ได้ หมายความว่า ใครก็ได้ที่ภายในอำเภอนั้นยอมรับในฝีมือด้านวัฒนธรรม

สภาวัฒนธรรมอำเภอมีหน้าที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมทั้งหมดภายในอำเภอของตนดังกล่าวมาแล้ว แต่ในความเป็นจริงการกำหนดรูปแบบยังมีไม่มากนัก งานที่เด่นชัดที่สภาวัฒนธรรมอำเภอต้องทำอย่างเร่งด่วนคือ

1.  หาข้อมูลแหล่งวัฒนธรรมในอำเภอ

2.  อนุรักษ์ พัฒนาแหล่งวัฒนธรรมให้เป็นศูนย์ศึกษาเฉพาะเรื่อง

3.  บอกตำแหน่งจากที่ว่าการอำเภอ ระยะทาง ค่าเดินทาง คุณค่าว่าไปดูแหล่งวัฒนธรรมนั้นแล้วได้อะไรบ้าง

4.  จัดประเภทวัฒนธรรมในท้องถิ่น

5.  กำหนดให้โรงเรียนนำนักเรียนและครูไปทัศนศึกษาให้ได้

6.  จัดฝึกอบรมนักเรียน ครู ประชาชน องค์กรในท้องถิ่นให้เป็นมัคคุเทศก์หรือผู้รู้ในท้องถิ่น

7.  มีหน้าที่เป็นไกด์ วิทยากรให้กับโรงเรียนต่างๆ 

8.  ออกแบบการทัวร์เฉพาะเรื่อง เช่น ลูกทัวร์กี่คน มาเมื่อไหร่ มาทัศนศึกษาแบบใด ไป-กลับ หรือค้างคืน กี่คน ค่าอาหาร ค่าที่พัก ความรู้ที่คณะทัวร์ต้องการ ของที่ระลึกเหล่านี้เป็นต้น มีกำหนดไว้หลายๆ แบบเพื่อลูกค้าเลือก

9.  กำหนดแหล่งวัฒนธรรมศึกษาในอำเภอให้สอดคล้องกับบทเรียนในโรงเรียน

จากสภาพความเป็นจริงสภาวัฒนธรรมอำเภอยังขาดคน ขาดเงิน ขาดการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ขาดการสำรวจเบื้องต้น ขาดการสัมพันธ์กับโรงเรียนและองค์กรท้องถิ่น งานของสภาวัฒนธรรมอำเภอจึงต้องแยกออกมาเป็นเอกเทศ จะได้ดูกระฉับกระเฉงในการทำงานและบริหารงานกว่าที่เป็นอยู่ โดยเฉพาะ “อำนาจ” จะต้องมีถึงขั้นสามารถกำหนดว่า โรงเรียนภายในอำเภอของเราควรปฏิบัติเกี่ยวกับวัฒนธรรมอะไร อย่างไร เมื่อไหร่ โดยสภาวัฒนธรรมอำเภอเป็นผู้กำหนดจากคณะกรรมการ

สภาวัฒนธรรมจังหวัด

สภาวัฒนธรรมจังหวัด ควรมีรูปแบบเฉพาะของการทัศนศึกษาด้านวัฒนธรรมท้องถิ่นเฉพาะเรื่อง เฉพาะอำเภอ สมมติว่า โรงเรียนในอำเภอฉวางจะนำนักเรียนไปทัศนศึกษาในตัวเมืองนครจะต้องผ่านประเด็นสำคัญใด  เช่น

1.  ควรเริ่มเดินทางจากหน้าที่ว่าการอำเภอ

2.  ผ่านที่ตั้งที่ว่าการอำเภอในอดีตที่คลองลุงที่โคกหาด

3.  ผ่านควนสงสาร ผ่านถนน 4015 ผ่านเขาธง

4.  สะพานศาลขุน เขาลูกแก้ว ลานสกา

5.  น้ำตกกะโรม บ้านตาล หัวอิฐ ตลาดแขก

ฯลฯ

สถานที่ทั้ง 5 ข้อนี้ มีคำอธิบายทั้งหมดโดยความร่วมมือของสภาวัฒนธรรมอำเภอ กำหนดระยะทาง จุดพัก ค่าใช้จ่าย และอื่นๆ และเมื่อถึงตัวเมืองนคร ทัศนศึกษาที่ใดกินอาหารที่ใด แวะที่ไหน พบใครจะต้องกำหนดไว้ใน “ทัศนศึกษาเฉพาะเรื่องแผน ก.” หากเป็น “ทัศนศึกษาเฉพาะเรื่องแผน ข.” จะต้องตัดประเด็นใดออก จะเพิ่มประเด็นใดเข้า สรุปแล้ว สภาวัฒนธรรมจังหวัดจะต้องมีแผนงานทัศนศึกษาวัฒนธรรมแบบนี้เป็นร้อยๆแผน ร้อยๆ เรื่อง เพื่อให้โรงเรียนแต่ละอำเภอเลือกใช้เวลานำนักเรียนไปทัศนศึกษา
หากหน่วยงานอื่นใดในจังหวัดจะอนุญาตจะจัดทัศนศึกษาก็ต้องประสานงานกับสภาวัฒนธรรมจังหวัด หรือศึกษาธิการจังหวัด ตัวเลขาธิการวัฒนธรรมจังหวัด เป็นผู้ตรวจสอบ และอนุญาตหรือส่วนงานราชการใดจะตรวจสอบ หรืออนุญาตในการไปทัศนศึกษาของโรงเรียนก็ให้สอดคล้องกับแผนงานของวัฒนธรรมท้องถิ่นจังหวัดว่าควรอยู่ในกรอบอย่างไร เป็นต้นว่า

1.  ต้องทัศนศึกษาภายในจังหวัดก่อนเพื่อ “ปลูกรักลงในแผ่นดิน” แก่เยาวชนที่จะเป็นพลเมืองของจังหวัดเราต่อไป หรือเป็นการ “รู้เรา” ก่อน “รู้เขา”

2.  เลือกเฟ้นแหล่งวัฒนธรรมที่ตอบสนองบทเรียนรู้จากบทเรียนให้มากที่สุด เช่น การปลูกป่าชายเลน การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง การทำย่านลิเพา การแปรรูปผลิตผลทางการเกษตร การทำรูปหนังตะลุง ศิลปะเครื่องถม โบราณสถาน โบราณวัตถุ แหล่งทรัพยากรธรรมชาติ ฯลฯ

3.  การเลือกเฟ้นแหล่งวัฒนธรรมสมัยใหม่ภายในจังหวัดก่อน เช่น  โรงงานอุตสาหกรรม ห้างสรรพสินค้า การเรียนรู้เรื่องอินเตอร์เน็ต การร่วมประชุมแบบสากล การทานอาหารเช้าแบบฝรั่งในโรงแรมชั้นหนึ่ง การพบปะกับบุคคลสำคัญ ขั้นตอนการประชุมสภาจังหวัด กิจการทหารและตำรวจในส่วนของประชาชน การผลิตและการตลาด เป็นต้น

จากข้อ 1-ข้อ 3 ข้างบนในบทเรียนกล่าวถึงอย่างมาก แต่โรงเรียนน้อยโรงนักที่จะจัดประสบการณ์ดีๆ แบบนี้เพื่อสนับสนุนบทเรียนให้แก่เด็กนักเรียน จึงเรียนรู้จากรูปภาพจากหนังสือ แต่ขาดประสบการณ์ตรงแต่หากโรงเรียนใดมีโอกาสนำนักเรียนไปทัศนศึกษากลับนำเด็ก “เตลิด” ออกไปนอกเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของบทเรียนอย่างน่าเสียดายและมักอ้างว่า “นี่ไม่ใช่เวลาเรียน” แต่เวลาอ้างขออนุญาตกลับบอกว่า “ไปทัศนศึกษา” ดังนั้นสภาวัฒนธรรมจังหวัดและผู้รับผิดชอบโรงเรียนควรเฝ้ามองการทัศนศึกษาที่เป็นเครื่องมือปฏิรูปการเรียนรู้สักนิดหนึ่งเพื่อวัฒนธรรมท้องถิ่นและอนาคตของจังหวัดเราเองเป็นสำคัญ

ทัศนศึกษาที่ผ่านมา

การทัศนศึกษาที่ผ่านมาโรงเรียนขออนุญาตอำเภอหรือขออนุญาตจังหวัดก็เป็นอันเสร็จสิ้นตอนสำคัญ โรงเรียนก็นำนักเรียนไปทัศนศึกษากลับมาแล้วก็จบเงียบไป การรายงานผลแม้ว่าตามระเบียบมีแต่ในทางปฏิบัติไม่มีเสียเป็นส่วนมาก ดูจากรูปแบบนี้หากจะพูดแบบไม่เกรงใจ ใครว่าทัศนศึกษาครั้งที่ผ่านมาเป็น “0” ก็ดูจะไม่ผิดนักดูจะเป็นการสูญเปล่าอย่างแท้จริง

ปฏิรูปการเรียนรู้ทัศนศึกษา

การปฏิรูปการเรียนรู้ทัศนศึกษาเพื่อ  “เติมเต็ม” บทเรียนให้สมบูรณ์จะต้องดำเนินการอย่างจริงจังและจริงใจทั้งนักเรียน ครู  ระดับอำเภอและระดับจังหวัดในเรื่องต่อไปนี้

1.  ตอบสนองบทเรียนที่เรียนอยู่และจะเรียนในเทอมต่อไป

2.  ต้องกำหนดว่า ชั้นใด  ไปเรียนรู้ทัศนศึกษาเรื่องอะไร ที่ใด เมื่อไร กำหนดไว้ในแผนการสอนปกติเลยทีเดียว

3.  ในการไปทัศนศึกษามี “ไกด์” นำเที่ยวแล้วยัง หากไม่มีสภาวัฒนธรรมอำเภอ/จังหวัด จะต้องจัดให้ เพราะนี่เป็นการเรียนการสอน

4.  สถานที่ไปเจ้าของสถานที่ต้องมี “ไกด์” หรือวิทยากรคอยอธิบายเพิ่มเติมเสริมแต่งในฐานะเจ้าของแหล่งเรียนรู้นั้น

5.  นักเรียนและครูต้องเขียนรายงานตามรูปแบบหรือนอกรูปแบบแต่มีเนื้อหาสาระตามหลักการเรียนรู้-ทัศนศึกษาในเรื่องนั้น

6.  รายงานในข้อ 5  ใช้เป็น “ส่วนหนึ่ง” ของบทเรียนนั้น ของวิชานั้นที่มีคะแนนให้ที่กำหนดไว้แล้ว ไม่ใช่หลอกเด็กให้เขียนเพื่อ “บัง-หน้า” แล้วไม่ได้นำมาเรียนรู้ดังที่ผ่านมาพร้อมนำรายงานที่ได้มา “วิพากษ์วิธี” ในห้องเรียนของวิชานั้น

7.  การทัศนศึกษาของครูต้องมีการถ่ายรูป สำรวจ หาข้อมูล เขียนบทความทางวิชาการในเรื่องที่ไปทัศนศึกษา แล้วใช้เป็นส่วนหนึ่งของผลงานวิชาการเฉพาะตัวหรือใช้เป็นหนังสืออ่านประกอบของนักเรียนเฉพาะวิชาหรือในห้องสมุดโรงเรียน

8.  โรงเรียนจะต้องรายงานผลทัศนศึกษาเป็นภาพรวมถึงสภาวัฒนธรรมอำเภอ และสภาวัฒนธรรมจังหวัดแห่งละ 1 ชุด เพื่อสภาวัฒนธรรมอำเภอ/จังหวัดเก็บไว้วิเคราะห์หาข้อบกพร่องข้อดี ข้อเสียของการทัศนศึกษาของโรงเรียนเรื่องนั้น แผนฯ นั้นในคราวต่อไปรวมทั้งรายงานนี้ใช้ประโยชน์ในการท่องเที่ยว เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การเมืองการปกครองในโอกาสต่อไปได้อีกด้วย

จะเห็นได้ว่า การปฏิรูปการเรียนรู้ทัศนศึกษาได้ประโยชน์พร้อมกันทุกๆ ฝ่าย โดยเฉพาะการถ่ายทอดหรือการปลูกฝังความรักท้องถิ่นให้คนรุ่นต่อไปที่ใช้วิธีการอื่นแล้วไม่ได้ผลหรือได้ผลน้อยมากดังปรากฎอยู่ในสังคมปัจจุบัน

การกำหนดเรื่องทัศนศึกษา

ตลอดความเป็นครู 36 ปีที่ผ่านมาของผู้เขียนไม่เคยได้ยินผู้อยู่ในแวดวงการศึกษาพูดกับครูว่า “ทำอะไร แล้วได้อะไร” ซึ่งเป็นแกนหลักของการทำงานก็เหมือนกับการทัศนศึกษาของทุกโรงเรียนที่ผู้เขียนพบผ่านมาในการไปทัศนศึกษาไม่เคยยกประเด็นมาพูดว่า “ไปทัศนศึกษาอะไรแล้วได้อะไรมา” มีเพียงแต่ “ไปทัศนศึกษาอะไร” แล้วก็กลับมาแบบสบักสบอมทั้งครูและนักเรียนพร้อมของฝากพะรุงพะรังแก่คนทางบ้านและเพื่อนฝูงนับ 1,000 กิโลกรัม  การนั่งรถอัดแน่นเหมือนปลากระป๋องอยู่แล้ว ขากลับยังอัดแน่นไปด้วยของฝากจากการช้อปปิ้งอีกนี้คือ  “ได้อะไรมา”

แล้วไหมล่ะ “การไปดูเพื่อเรียนรู้ในสิ่งนั้น” คงตกตะกอนอยู่ในอนุสติเพียงเล็กน้อยเท่านั้นดูจะไม่คุ้มกับการเสี่ยงชีวิตไปเที่ยวเลย เมื่อกาลเวลาผ่านไป “อนุสติ” เกี่ยวกับสิ่งที่ไปดูไปเห็นมาก็ค่อยๆ เลือนหายไปจากความทรงจำ การทัศนศึกษาครั้งนั้นก็กลายเป็น “0” ไปอีกครั้งเหมือนกับครั้งก่อนๆ

ความรู้สึกทางธรรมชาติ

ความรู้สึกทางสัญชาตญาณที่ธรรมชาติให้ไว้ทำให้มนุษย์ทุกคนอยากรู้ อยากเห็น สถานที่ใหม่ของแปลก ของใหม่ที่สนุกสนาน หากสถานที่ไปท่องเที่ยวนั้นให้ความพึงพอใจอันพึงประสงค์ที่ตนต้องการด้วยแล้วก็มีความรู้สึกประทับใจและอยากจะไปอีก

เด็กในปฐมวัยทั้งชั้นประถมและมัธยมกำลังเรียนรู้ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หากโรงเรียนได้ใช้ธรรมชาติของเด็ก และให้สิ่งแวดล้อมในประสบการณ์ที่ดีก็สามารถปลูกฝังความรู้สึกเป็นสุขที่ประทับใจไปอีกนานจนเป็นผู้ใหญ่และได้รับผิดชอบครอบครัว

ความรู้สึกเป็นสุขที่ประทับใจนั้นก็คือ การไปทัศนศึกษาอย่างมีเป้าหมาย และคุ้มค่า ความคุ้มค่าในการทัศนศึกษาที่ควรจะได้  ได้แก่

1.  คุ้มค่ากับการเสี่ยงชีวิตไป

2.  คุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไป

3.  คุ้มค่ากับเวลาที่เสียไป

4.  คุ้มค่าที่รู้สึกสนุกและเป็นสุข

ความรู้สึกสนุกและเป็นสุขจะปะปนอยู่กับความรู้ในเรื่องที่ไปทัศนศึกษา ดังนั้นหากทำให้ผู้ไปทัศนศึกษา “คุ้มค่า” ทั้ง 4 ประการ “ความรู้” ที่ได้จะเด่น และมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากมีใครมาดึงความรู้ออกมาก็จะได้เป็นเนื้อเป็นหนังเป็นเนื้อหาสาระไม่น้อย ดังนั้นโรงเรียนและครูต้อง “ดึง” ความรู้ ความจำ ความเข้าใจ ความสามารถอธิบายได้ในเรื่องที่ไปทัศนศึกษาของนักเรียนออกมาในรูปแบบของรายงานที่เป็นลายลักษณ์อักษร และเป็นส่วนหนึ่งของบทเรียนจะเป็นการดีที่สุด เพราะการเป็นส่วนหนึ่งของวิชาที่เรียนจะทำให้นักเรียนกระตือรือร้นมากขึ้น ส่วนครูที่รับผิดชอบวิชานั้นก็จะ “ตั้งใจ” ในการนำทัศนศึกษาที่ “ไปดูและเรียนรู้ในสิ่งนั้น” มากขึ้นเป็นเงาตามตัว เพราะส่วนหนึ่ง คือ ผลงานทางวิชาการของตนที่พอจะหยิบฉวยมาใช้อ้างอิงได้ในอนาคต

สรุป

จากที่กล่าวมาแล้วทั้งหมดจะเห็นว่า “วัฒนธรรม” มีความสำคัญ 1 ใน 3 ของการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ที่กำหนดแน่นอนตายตัวให้นักเรียนในปฐมวัยได้เรียนรู้ เข้าใจ อธิบายได้ และปฏิบัติการอนุรักษ์เชิงสร้างสรรค์ได้ การใช้ “ทัศนศึกษา” เป็นเครื่องมือในการศึกษาหรือเรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่นเพื่อสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมไปสู่คนรุ่นต่อไปจะต้องจัดให้มี “การปฏิรูปการเรียนรู้ทัศนศึกษาเพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนวัฒนธรรมท้องถิ่น” อย่างเร่งด่วน ในระดับโรงเรียนจะรอคอย “คำสั่ง” และ “นโยบาย” อยู่อีกเหมือนเรื่องอื่นๆ ไม่ได้อีกแล้ว


 Print   
 บทความที่เกี่ยวข้อง Minimize

 Print   
Copyright © 2008 by สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ