Back Office : | Login  

ขณะนี้คุณอยู่ที่หน้า : ผลงานวุฒิอาสา > องค์ความรู้
 บทความของวุฒิอาสา Minimize

Tuesday, June 17, 2008  
 เดือนสิบ ชาวนอกเขา
:: 6306 Views :: ด้านศิลปวัฒนธรรมและศาสนา

 โดย...ชาลี   ศิลปรัศมี

ชาวนอกเขา คือ คนกลุ่มหนึ่งอาศัยอยู่นอกเขาหลวงไปทางตะวันตกของเมืองนครศรีธรรมราช นับตั้งแต่เขาธง ลานสกาลงไป ในอดีตหมายถึงอำเภอฉวางอำเภอเดียว แต่ปัจจุบันคงหมายรวมถึงอำเภอฉวาง อำเภอถ้ำพรรณรา อำเภอพิปูนและอำเภอช้างกลาง เพราะ 3 อำเภอหลังแยกพื้นที่ไปจากอำเภอฉวางไปตั้งอำเภอใหม่ ดังนั้นปัจจุบันนี้คงเรียก “กลุ่มอำเภอชาวนอกเขา” เป็นดีที่สุด

คนนอกเขาจะมีลักษณะสูงใหญ่ บึกบึน ผิวดำ พูดเสียงดัง “หัวหมอ” และมีความเชื่อมั่นในตนเองสูง มีวัฒนธรรมชัดเจน ทั้งด้านการกินอยู่ การเกิด การตาย อาชีพ ขนบธรรมเนียม เพราะได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมมา 3 กระแส คือ อารยธรรมจากบริเวณปากอ่าวบ้านดอนขึ้นมาตามแม่น้ำตาปีและสาขาต่างๆ อารยธรรมจากเมืองนครศรีธรรมราชผู้ปกครองและอารยธรรมเฉพาะถิ่นของ 4 หัวเมืองเอง คือ หัวเมืองกะเปียด หัวเมืองพิปูน หัวเมืองละอาย และหัวเมืองหลักช้าง

โภคทรัพย์ของชาวนอกเขาเป็นสิ่งที่ทำให้นครศรีธรรมราชมีชื่อเสียงโด่งดังมากในอดีต เช่น ไม้ตะเคียนสร้างเรือประเภทต่างๆ โดยเฉพาะเรือรบ ชาวป่ามีกรมช้างอยู่ในเขตชาวนอกเขา ช้างเผือกที่เคยส่งไปบรรณาการอยุธยา ไม้หอมกฤษณา ผลเร่ว งาช้าง เขาสัตว์ หนังสัตว์ หวาย ขี้ชัน น้ำผึ้ง ฯลฯ ซึ่งเป็นตัวเศรษฐกิจทำเงินให้เมืองนครศรีธรรมราชทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นชาวนอกเขาจึงหยิ่งในศักดิ์ศรีมากที่ได้เป็นเมืองหน้าด่าน 4 เมือง ให้แก่นครศรีธรรมราช ขนบธรรมเนียมประเพณี โดยเฉพาะด้านศาสนา ชาวนอกเขาจะรับตรงจากวัดท่าโพธิ์ อำเภอเมืองไปสู่ “วัดวังม่วง พระอารามหลวง” ในอดีต ซึ่งเป็นวัดเอกของหัวเมืองละอาย (ปัจจุบันอยู่ในอำเภอฉวาง) ดังนั้นประเพณีเดือนสิบของชาวนอกเขาดูจะเข้มข้นมาก จนเป็นรูปแบบสืบทอดมาหลายชั่วอายุคน ผู้เขียนขออนุญาตเขียน “เดือนสิบชาวนอกเขา” เฉพาะเวลา 40 ปี จาก พ.ศ.2480-2520 ดังจะกล่าวต่อไป

ความหมายของคำว่า เดือนสิบ

“เดือนสิบ” ในความหมายของชาวนอกเขาจะมี 2 นัยยะ คือ

1.  เป็นเดือนที่ 10 ของเดือน

2.  เป็นสารทเดือนสิบที่มีกระบวนการพบปะบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วที่วัดในวันแรม 13-15 ค่ำ เดือนสิบ แต่ชาวนอกเขาจะไม่เรียก สารทเดือนสิบ ที่ชาวกรุงเทพฯ กำหนดให้ชาวนครเรียก กลับเรียก “เดือนสิบ” แบบเดิม

ขั้นตอนเดือนสิบของชาวนอกเขา

ขั้นตอนเดือนสิบของชาวนอกเขามีขั้นตอนดังนี้

1.  ตัดสินใจจะเริ่มต้น ขั้นตอนใด เมื่อไร

2.  ตัดไม้พลาไว้เป็นเชื้อเพลิงในการทำขนม

3.  หามะพร้าวมาเคี่ยวมัน (น้ำมัน)

4.  เขี่ยพอง ตากแดดไว้มากๆ

5.  ทอดลา ตามมาด้วยขนมบ้า จู้จุน ทอดมัน

6.  เอาข้อ 4 ข้อ 5 ไปให้ญาติผู้ใหญ่ คนที่เคารพนับถือ

7.  เอาข้อ 4 ข้อ 5 ไปใส่ “จาด”

8.  เตรียมตัวไปวัด

9.  ไปวัดเดือนสิบ

ตัดสินใจเริ่มต้น

การตัดสินใจเริ่มต้น บุคคลสำคัญในบ้านจะต้องตัดสินใจว่าปีนี้จะเอาไม้พลาที่ใดมาทำฟืนสำหรับเคี่ยวมัน ทอดลา เพราะไม้พลาเป็นไม้เนื้อแข็ง แน่น เนื้อเป็นมัน หาง่ายในท้องถิ่น ต้นขนาดกลาง ใบขนาดกลางมน ดอกสีเหลืองเล็กๆ ลูกแก่สีเขียวที่เด็กๆ นิยมเอามาอัดในกระบอกไม้ไผ่ แล้วยิง เรียกว่า “ฉีด-โขลง” หรือเอามากินกับเกลือ ลูกสุกดำ ออกรสหวาน เนื้อไม้จะติดไฟช้า แต่เมื่อติดไฟแล้วจะมีถ่านสุกแดงอยู่เป็นระยะเวลานาน ให้ความร้อนระอุอย่างต่อเนื่องนานนับชั่วโมงโดยเฉพาะในการทอดลา จะต้องใช้ความร้อนระอุอย่างสม่ำเสมอ เส้นของขนมลาจึงจะออกมาสวย การตัดสินใจจากข้อ 1- ข้อ 8 จะต้องสัมพันธ์กันและกำหนดค่าจะทำขั้นตอนใดในวันใด ซึ่งแต่ละครอบครัวจะไม่ทำพร้อมกัน แล้วแต่ความพร้อมของแต่ละครอบครัว ขั้นตอนที่ยากที่สุด คือขั้นตอนที่ 5 การทอดลา ดังนั้นอาจจะมีการรวมตัวหลายๆ ครอบครัวนัดไปทำลากันที่บ้านใดบ้านหนึ่ง ใครจะเอาอะไรไปบ้าง แต่ทุกขั้นตอนที่ตัดสินใจกำหนดต้องไม่เกินแรม 12 ค่ำ เพราะตั้งแต่ 13 ค่ำ จะไปวัดทำบุญสารทเดือนสิบกันแล้ว ทุกครอบครัวจึงต้องพร้อมที่สุด

หาไม้พลามาทำฟืน

การหาไม้พลาเริ่มต้นด้วยการหาต้นพลา โค่นด้วยขวาน ตัดด้วยเลื่อย 2 มือ หรือ “เลื่อยบ้อง” ตัดไม้พลาออกเป็นบ้องหรือซุงยาวขนาด 1 ศอกครึ่ง ขนมาไว้ที่บ้าน ว่างเมื่อไรก็ “เฉียง” กับขวานออกเป็น 4-6 ส่วน เรียงตากแดดเอาไว้ให้แห้งมากที่สุด แล้วเก็บไว้ในที่ร่มเป็นรูปเล้าหมู รอวันนำไปใช้ทอดลา

การเคี่ยวมัน

การเคี่ยวกะทิให้เป็นน้ำมันจะมี “ขี้มัน” รสหวานสีน้ำตาลเข้มเป็นผลพลอยได้ใช้กินเปล่าๆ ซาวกับข้าว เก็บไว้ให้ผู้เฒ่าผู้แก่ที่ไม่มีฟันเคี้ยวอาหารแข็งๆ ชนิดอื่น เพราะขี้มันนิ่ม รสหวาน จนดูจะไม่ต้องเคี้ยวก็กินอร่อยได้ทุกมื้อ

การเคี่ยวมันจะเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ปอกมะพร้าวไว้ประมาณ 20 ลูก พอตอนหัวรุ่งของวันรุ่งขึ้น จะผ่ามะพร้าวด้วยขวานพร้าให้ออกเป็น 2 ซีก จะได้มะพร้าว 40 ซีก ลูกหลานบนบ้านจะเอา “เหล็กขูด” และถาด 1 ใบ พร้อมมะพร้าวที่ผ่าไปขูดแข่งกันเสียงดังไปทั้งบ้าน ใครขูดหมดก่อนหรือได้มากกว่าคนอื่นถือว่าเป็นผู้ชนะขูดได้เก่ง

การขูดมะพร้าว จะเริ่มต้นจากคนขูดขึ้นนั่งคร่อมเหล็กขูด เลื่อนถาดรับมะพร้าวให้เข้าที่เข้าทางเอามะพร้าว 1 ซีกคว่ำเข้าหาคมเหล็กขูดซึ่งเรียงกันเป็นวงกลม คมกริบ ฝ่ามือทั้งสองทาบประกบส่วนบนส่วนโค้งกะลา (พรก) มะพร้าวจรดเนื้อมะพร้าวด้านริมแตะคมเหล็กขูด แล้วกดดึงขี้นลงหมุนพรกไปรอบๆ เป็นวงกลม ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนเนี้อมะพร้าวหมดพรก 1 ซีก แล้วเอาฝาหรือซีกใหม่ต่อไป ซีกที่ขูดยากมักเป็นซีกตัวผู้ที่มีตา หากตอนผ่าพรกเว้าๆ แหว่งๆ ผู้ชำนาญจริงๆ เท่านั้นจึงจะขูดได้ เสียงขูดมะพร้าวจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ จนฟังรู้ว่าขณะนี้ผู้ขูดขูดใกล้จะเสร็จแล้วหรือเพิ่งเริ่มต้น

เมื่อเสร็จจากการขูดก็เอามะพร้าวที่ขูดแล้วทั้งหมดมาใส่โคม (กะละมัง) ใบใหญ่ ใส่น้ำขยำด้านสันมือ (นิ้วก้อย) ปล่อยออกไปทางหน้ามือระหว่างหัวแม่มือกับนิ้วชี้ ทำเช่นนี้จนมะพร้าวทั้งหมดถูกเค้นให้กะทิออกมาจากเนื้อมะพร้าว แล้วก็ “ปั้น” กากมะพร้าวใส่กะละมังที่ 2 ปั้นอีกครั้งเอาน้ำที่ 1 และน้ำที่ 2 ลงเคี่ยวในกระทะใบบัว เคี่ยวให้เดือดอย่างต่อเนื่องประมาณ 3 ชั่งโมง กะทิสีขาวข้นจะเปลี่ยนสีเป็นน้ำใสเนื้อกะทิจะเริ่มจับตัวเป็นตะกอนหรือขี้ขมวน เคี่ยวต่อไปอีกน้ำใสก็เริ่ม “แตกมัน” เดือดปุดๆ ขี้ขมวนจะเริ่มกลายจากสีเทาเป็นสีน้ำตาล น้ำใสที่แตกมันแล้วจะกลายเป็นสีเหลืองอำพันมันละเลื่อม สักครู่หนึ่งก็ตักน้ำมันขึ้นใส่หม้อไว้ แล้วเคี่ยวต่อไปอีกและคอยตักน้ำมันออกเรื่อยๆ จนกระทั่งหมดน้ำมัน แล้วคอยเคี่ยวขี้ขมวนให้แห้งจนเกือบกลิ้ง ตักขึ้นมาใส่ผ้าสะอาดรวบบิดหาไม้ 2 อันหรือ “เห็บ” มาหนีบให้น้ำมันออกมามากที่สุด น้ำมันครั้งสุดท้ายน้ำจะมีขี้ขมวนของกะทิออกมาด้วย เก็บไว้ทอดปลา ผัดข้าวอร่อยนัก ส่วนขี้ขมวนที่เหลือหลังจากบีบน้ำมันออกหมดแล้วคือ “ขี้มัน” ดังกล่าวมาแล้ว จากมะพร้าว 20 ลูก จะได้น้ำมันมะพร้าวประมาณ 3-4 ขวดแม่โขงกลม ปริมาณน้ำมันที่ได้จะขึ้นอยู่กับชนิดของมะพร้าวว่าลูกใหญ่ เนื้อหนา และมีมันมากน้อยเพียงใด

การเขี่ยพอง

การเขี่ยพองจะเริ่มต้นจากการหาทางมะพร้าวสด เอาพร้าเลาะเปลือกสีเขียวของทางมะพร้าวออกมาเป็นแผ่นยาว ผ่าให้กว้างประมาณ 1-2 ซม.ยาวประมาณ 1 ศอก - ศอกครึ่ง พับเป็นวงกลมบ้าง สามเหลี่ยมบ้าง สี่เหลี่ยมบ้าง เป็นรูปหางไหลบ้าง คือส่วนบนโค้งมน ด้านล่างรวบให้เป็นหางเรียว โดยทุกแบบจะเอาด้านหลังเข้าด้านใน แล้วผูกเชือกกล้วย ให้คงรูปที่ต้องการ อย่าให้คลายออกก่อนเขี่ยพอง ต้องแช่น้ำไว้ 1 คืน แบบทำพองนี้จะเรียกกันว่า “พิมพ์พอง”

วันต่อมาก็นำสารข้าวเหนียวมานึ่งด้วย “สวด” ซึ่งมีรูปร่างทรงสูง ป้อม ปากกว้างกว่าด้านก้น ด้านก้นจะมีรูป สวดจะทำจากดินเผา ล้างสารข้าวเหนียวใส่ในสวด แยงก้นสวดลงในหม้อน้ำเดือด เอาผ้าขี้ริ้วแซะระหว่างสวดกับปากหม้อกันไม่ให้ไอน้ำออกมาทางนั้น ก่อนวางในปากหม้อต้องเอาไม้แยงหม้อแยงรูสวดผ่านข้าวเหนียวให้ทะลุปากสวด เพราะไอน้ำเดือดจะเข้ามาทางช่องนั้น ทำให้ข้าวเหนียวสุกระอุทั่วถึงกันในเวลาอันรวดเร็ว ส่วนปากสวดจะปิดด้วยฝาหม้อ หากไม่สนิทแนบก็ใช้ผ้าขี้ริ้วอุดช่องกันไอน้ำเช่นกัน

เมื่อข้าวเหนียวสุกก็ตักลงมาใส่โคมขนาดเล็ก ใช้มือหยิบข้าวเหนียวร้อนๆ ใส่ในพิมพ์พองที่รองด้วยใบตองสด ใบจง หรือใบสะท้อนหรือใบเร็ดก็ได้ การจัดข้าวเหนียวเป็นรูปตามพิมพ์พอง มีหลักว่าต้องยกขอบให้สูงเท่าความสูงของพิมพ์พอง จัดเรียงเม็ดข้าวเหนียวให้บางที่สุด หากแน่นมากจะไม่พองเวลาสาย และไม่ควรใส่ข้าวเหนียวเปียก เพราะว่าข้าวเหนียวเปียกเวลาสายจะ “ด้าน” สายไม่ขึ้น การเรียงข้าวเหนียวในพิมพ์พองจึงเรียกว่า “เขี่ย-พอง” เมื่อเขี่ยเสร็จแล้วก็เอาพองที่ได้ไปใส่ในแผงที่สานลายขัดแตะตกห่างๆ ด้วยไม้ไผ่ ตากให้หลายแดด ตากให้แห้งที่สุดเพราะเชื่อกันว่าหากพองแห้งมากจะพองมาก และพยายามตากแดดบ่อยๆ อย่าให้บูดแดดเด็ดขาด

กระบวนการทำพองขั้นสุดท้าย มักจะทำก่อนทอดลา 3-5 วัน เพื่อลดภาระ แต่หาก “ตา-ยาย-อยาก” ก็ “สายพอง” ก่อนได้หลังตากแล้ว แดดเดียวก็ได้ (ตายายในที่นี้อาจจะหมายถึงเด็กเล็กๆ ที่เห็นอะไรอยากกินไปหมด พ่อแม่อดใจไม่ไหวเลยสายพองให้ลูกกินก่อน และเชื่อว่าเป็นความประสงค์ของตายายที่ล่วงลับไปแล้ว จึงเรียกความอยากของเด็กๆ ว่า “ตา-ยาย-อยาก”) ปัจจุบันคงเรียกขั้นตอนนี้ว่า ทอด-พอง แต่ชาวนอกเขาสมัยก่อนจะเรียกว่า “สาย-พอง” หรืออาจจะเหมือนกับคำกรุงเทพฯ ว่า “สาย-พอง” ก็ได้ ด้วยเอาน้ำมันมะพร้าวที่เคี่ยวได้มาตั้งไฟให้เดือด ใส่พองลงไป 1 อันเป็นการ “ลองแล” พอพองร้อนได้ที่ก็เอา “ไม้-ตี-มัน” ซึ่งทำด้วยไม้ไผ่ยาวประมาณ 2 ศอก ปลายหนึ่งเล็กกลม ปลายตรงกันข้ามใหญ่ แบนเป็นปากเป็ด เอาด้านแบนกดแผ่นพองให้นิ่งสนิทอยู่ก้นกระทะ พอเห็นเม็ดพองแตกปะทะกับน้ำมัน จึงเขย่าไม้ตีมันไปมา ทำให้แผ่นพองถอยหน้าถอยหลังและฟูฟ่อง เม็ดข้าวเหนียวจะพองกว่าเดิมประมาณ 3 เท่าตัว พอเห็นว่าพองทั้งแผ่นก็ปล่อยให้ลอยล่องอยู่บนผิวน้ำมันได้ตามชอบใจ แล้วใส่พองแผ่นต่อไปได้เลย สักครู่หนึ่งก็ตักเอาแผ่นที่พองแล้วมาตั้งพักใน “เจีย” ให้เด็ดน้ำมันแล้วให้ตายายกินได้เลย

           การทำพองพยายามทำพิมพ์พองให้โตขึ้นและเป็นรูปต่างๆ แล้วดูจะเป็นการยากและไม่สะดวก รูปทรงเรขาคณิตของพิมพ์พองแบบวงกลม สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม และหางไหลจึงยังเป็นรูปแบบมาตรฐานหลักตลอดมา ส่วนข้าวเหนียวพยายามใช้เหนียวดำย้อมขมิ้นให้เหลืองอ่อนดูน่ากิน แต่ปัจจุบันกลับย้อมสีได้ตามใจชอบ แต่มีมาตรฐานของพองยังเป็นขาวและดำตามธรรมชาติอยู่
 

 การทอดลา

การทอดลา หากพรกทอดลาไม่ดีก็เห็นจะต้องทำพรกลากันใหม่ด้วย หาพรกมะพร้าวตัวเมียขนาดพอเหมาะ ขูดให้ดำสนิทเป็นมันวาว ใช้เหล็กไชเผาไฟเจาะรูที่ก้นกะลาหรือพรกให้ห่างกันประมาณ 1-1 ซม.ครึ่ง เจาะปากด้านบน 2 รู และด้านตรงกันข้าม 2 รู เพื่อสอดเชือกหวายที่เหลาอย่างประณีต ผูกกะลาให้ติดกับไม้คานด้านบนขนาดนิ้วมือผ่านปากกะลา และยาวพ้นออกไปข้างหนึ่งประมาณ 1 ศอก

แป้งที่ใช้ทอดลานิยมใช้แป้งข้าวเหนียว เพราะยืดหยุ่นได้ หมักแช่ไว้ 2-3 คืน บดด้วยครกบดทำด้วยหิน 2-3 ครั้ง เพื่อได้แป้งเนื้อละเอียดเกรอะในผ้าเนื้อดิบ จนน้ำออกหมดเหลือแต่เนื้อแป้ง นำไปทิ่มตำด้วยครกตำข้าว 2-3 ครั้งจนแน่ใจว่าละเอียดมากตามต้องการ แล้วก็ร่อนด้วยตะแกรงตาถี่ที่สุด เพื่อให้ได้แป้งที่ละเอียดที่สุดมาปนกับน้ำตาลปี๊บที่เคี่ยวกับน้ำจนเหลวข้น เรียกว่า “น้ำผึ้ง” ขยำให้เข้ากันได้ให้ดีที่สุดใส่พรกลา คอยดูแป้งผสมน้ำผึ้งจะลอดลงรูที่เจาะไว้ทุกรูพร้อมกัน ไม่มีรูใดเส้นแป้งขาดเส้นแป้งเหลว เมื่อหยดถึงพื้นจะพับไปพับมาโดยอัตโนมัติ และแป้งจะต้องเป็นมันเลื่อม ไม่มีฟองอากาศเลย จึงเชื่อได้ว่าผสมแป้งถูกต้องแล้ว

คราวนี้ก็เป็นบทบาทของไม้พลาว่ามีคุณภาพเยี่ยมยอดสมคำเล่าลือหรือไม่ ด้วยการก่อไฟใส่ไม้พลาแห้งแดดให้เป็นถ่านสุกแดง ไม่มีเปลวไฟเหลืออยู่ใต้กราน 3 ขา หรือเหล็ก 3 ขาที่เชื่อมติดกับเหล็กวงกลมเพื่อรองรับก้นกระทะมีเงี่ยงเหล็ก 1 เงี่ยง ตรงขารองก้นกระทะให้มั่นคงขึ้น ตั้งกระทะเหล็กขนาดกลางที่ขัดผิวขาวระยับทั้งนอกทั้งใน และนิยมใช้กระทะเก่า เพราะผิวเนื้อจะลื่นไหลไม่ติดกระทะ กระทะแบบนี้บางทีทั้งตำบลมีอยู่ใบเดียวเท่านั้น เหมือนกับคนผสมแป้งลาและทอดลาก็มีน้อย ต้องยืมตัวกันทีเดียว เมื่อกระทะร้อนได้ที่ก็เอา “ไม้ตีมัน” โดยใช้กากมะพร้าวทุบเป็นฝอยยาวขนาด 2 นิ้ว ผูกติดด้านกลมของไม้ตีมันเป็นกระจุก ชุบน้ำมันมะพร้าวในหม้อเคาะกับปากกระทะที่ร้อนระอุไปรอบๆ กระทะ น้ำมันจะเดือดระอุขึ้นพร้อมกัน รอจนควันน้ำมันจางลง ก็เอาพรกลาที่ใส่แป้งผสมแล้วไป “ร่อน” เรียงเส้นไปทั่วกระทะ แล้วยกขึ้นไปตั้งรอไว้ปากหม้อที่คอยรับแป้งเวลาร่อนอาจจะร่อนวงกลม ร่อนแนวตั้ง ร่อนสี่ทิศ แล้วแต่ถนัดแต่ละแบบ “ลาย-ลา” จะออกมาต่างกันด้วย รอดูสักพัก หากเส้นแป้งบริเวณใดไม่สุกแห้งทันที แสดงว่าขาดน้ำมัน เอาไม้ตีมันด้านกากมะพร้าวชุบน้ำมันเคาะปากกระทะตรงจุดนั้นน้ำมันจะไหลลอดเส้นแป้งที่ไม่เดือดให้เดือดหลุดขึ้นมาจากผิวกระทะ

เมื่อเห็นว่าลาสุกดีทุกเส้น ก็เอาไม้ตีมันด้านปากเป็ดแซะลาออกขึ้นมาจากผิวกระทะ พับเข้าหากันเป็นสามเหลี่ยมหน้าจั่ว พับกลางเอาไม้สอดตั้งในถาดและทอดแผ่นต่อไป หากแป้งในพรกลาหมดก็เทแป้งในหม้อที่แป้งสอดลงไปพัก เทกลับมาใส่พรกลาทอดแผ่นต่อไป แต่หากแป้งหมดก็ผสมใหม่แต่ต้องมีอัตราส่วนถูกต้องตามสูตรเดิมเหมือนพรกแรก

หากไม่เหมือนพรกแรกเพราะผิดสูตรก็เห็นจะต้องเทให้หมูให้หมา ขายหน้าไปทั้งหมู่บ้านว่าทำลาไม่เป็น ดังนั้นครอบครัวใดไม่มั่นใจในฝีมือ ไปร่วมลงหุ้นกับครอบครัวที่ทอดลาเก่ง โดยจะแบ่งงานกันว่าจะเอาอะไรไปร่วม เช่น ฟืนไม้พลา แป้ง หรือน้ำตาล น้ำตาลก็มีคุณภาพต่างกัน เพราะไปซื้อมาจากคนละร้าน คนขายเป็นจีนคนละคน ดังนั้นน้ำตาลร้านใด ทอดลาแล้วสวย คนจะไปแย่งกันซื้อจนคนขายรวยไม่ทันนับเงินไม่เสร็จ

เมื่อมีหุ้นส่วนทำลามากก็ต้องทำลาให้มากขึ้น บางทีก็มืดค่ำแล้วยังไม่เสร็จต้องต่องานอีกในวันต่อไปก็มี แต่ทุกคนก็ให้ความร่วมมือกันอย่างแข็งขัน เพราะเชื่อมั่นในหัวหน้าทีมหรือเจ้าภาพผู้เป็นเจ้าของบ้านที่เป็นศูนย์กลางทำลาด้วย

ในการทำลาวันเดียวกันนี้ คนที่ไม่มีฝีมือในการทำลาอาจจะต้องแยกไปทำขนมบ้า จู้จุน ทอดมัน ใกล้กับบริเวณนั้นก็ได้ แต่ต้องทำเผื่อคนที่ทำลาด้วย แต่ส่วนมากการทำขนมบ้า ขนมจู้จุน ทอดมันต่างครอบครัวก็ทำเอาเอง เพราะไม่มีเทคนิคละเอียดรอบคอบเหมือนการทอดลาอันใด เพียงแต่เอาแป้งแห้งผสมน้ำตาลมาทอดน้ำมันก็เป็นขนมบ้าแล้ว จู้จุน ดีซำ ก็ทำนองเดียวกัน ส่วนทอดมันต้องใส่ใบเล็บครุฑ กุ้ง เครื่องแกงจึงทอดก็เป็นทอดมัน แต่ถ้าใบเล็บครุฑ กุ้ง ถูกบดละเอียดปนเครื่องแกงปั้นเป็นเม็ดขนาดหัวแม่มือแล้วทอด จะเรียกว่า “ลูก-เห็บ” หรือ “ลูก-เห็ด” เก็บไว้กินแก้เลี่ยนหลังจากกินลาขนมบ้าแล้ว

การไหว้ญาติ

ก่อนถึงวันพบเปรตหรือผีบรรพบุรุษที่วัดในวัน 13-15 เดือน 10 ทุกครอบครัวจะเอาพอง ลา บ้า ขนมสำคัญที่สุด 3 อย่างนี้จะขาดไม่ได้ ห่อกระดาษหรือใบตองสด หรือใส่ “หม้อเขียว” ให้ลูกหลานเอาไปให้ญาติผู้ใหญ่หรือคนที่เคารพนับถือ เป็นการบอกบุญ – ไหว้ญาติตามธรรมเนียม ดังนั้นพองแผ่นที่พองที่สุด สวยที่สุด พร้อมกับลา บ้า จะไปเป็นของคนอื่น อันที่ไม่สวยแม่จึงแบ่งให้ลูกๆ กิน คนที่รับจะได้ “ยอ” ว่าเก่ง ทำขนมเดือน 10 ได้สวย ในขณะเดียวกันคนอื่นก็เอามาให้เรา หากเขารักนับถือเรา เราก็เอาขนมแผ่นที่ดีที่สุด สวยที่สุดไปให้คนอื่นอีก บางทีผู้รับกลับจำได้ว่าเป็นขนมของตน เพราะขนมเวียนไปเวียนมากี่รอบแล้วก็ไม่รู้

การแห่จาด

ตามปกติเมืองนครศรีธรรมราชจะทำ “จาด” ใส่พอง ลา บ้า มะพร้าว น้ำเต้า ขี้พร้า ถ้วยชาม ไม้ขีดไฟใส่จาดประดับประดาตกแต่งไปถวายวัด พระภิกษุสามเณรจะเก็บของพวกนี้ไว้ฉันในเดือน 11 เดือน 12 ที่ฝนตกชุก น้ำท่วมของขบฉันมีน้อย จาดจะทำเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนาดสูง 1เมตร สำหรับใส่ข้าวของมีเสาสี่เสาเรือนยอดเป็นมณฑปกระดาษสีต่างๆ โครงร่างทำด้วยไม้ไผ่ปนไม้ระกำจะร่วมกันทำทั้งหมู่บ้าน และมีตัวทองสูงหรือสมบัติเป็นผีเปรตชายหญิงอย่างละตัว ทำด้วยไม้ไผ่สานปนไม้ระกำเป็นโครงร่าง มีคนเข้าไปอยู่ด้านในนำเดินชักหน้าชักตาให้ดูดังมีชีวิต เด็กเล็กๆ จะกลัวกันนัก ส่วนเสียงที่เร้าใจก็คงไม่พ้นเสียงกลองยาวที่ตีกันชนิดมือไม่ขาดไม่หยุด “เอามันส์พะย่ะค่ะ” เข้าว่า เรื่องอื่นไม่ต้องพูดถึง

ส่วนผู้เฒ่าผู้แก่ที่มีจิตอานิสงส์ต่อการทำบุญเดือน 10 สูง ก็เอาถาดหรือโคม (กะละมัง) ใส่กระโจมไม้ระกำ ด้านในเป็นโครงสร้างให้ยอดแหลมเหมือนขันหมาก เอาลามาหุ้ม ผูกสายสิญจน์หรือสายด้ายสีขาวเหน็บพองบ้าง จู้จุน ทอดมัน ดอกไม้ ธูปเทียน ไม้ขีดไฟ หลังจากอาบน้ำแต่งตัวด้วยผ้าใหม่ที่สุด สวยที่สุดแล้วก็แบกหรือทูนไว้บนศีรษะเข้ากระบวนแห่หรือไปกันเฉพาะครอบครัว มุ่งหน้าไปยังวัดที่ต้องการ ขนมเดือน 10 ที่ประดับตกแต่งนี้จะเรียกกันว่า “หมรับ” ซึ่งเป็นของแท้แน่นอนของชาวนอกเขาและชาวนครศรีธรรมราชอย่างแท้จริง

การเตรียมตัวไปวัด

การเตรียมตัวไปวัดของคนชาวนอกเขาในประเพณีเดือนสิบ มีขั้นตอนดังนี้

1.  บางวัดอาจจะทำบุญเดือนสิบในวันแรม 13 ค่ำ บางวัดแรม 14 ค่ำ และบางวัดแรม 15 ค่ำ สาเหตุที่แบ่งกันแบบนี้ส่วนมากเป็นวัดที่อยู่ใกล้กันประชาชนที่มาทำบุญเป็นกลุ่มบ้านเดียวกันเลยแบ่งวันทำบุญเพื่อจะได้ทั่วถึง หัวหน้าครอบครัวจึงต้องตัดสินใจว่าจะไปกี่วัด วันใด วัดใดจะเข้ากระบวนแห่จาด วัดใดจะทำหมรับไปเอง

2.  ดูแลให้เด็กๆ อาบน้ำทาแป้ง แต่งตัวกินข้าวกินขนมให้อิ่มหมีพีมันเวลาไปถึงวัดจะได้ไม่รบกวนผู้ใหญ่ที่ตั้งใจทำบุญ ผีบรรพบุรุษที่มาวัดจะได้ยกยอว่าเลี้ยงดูลูกหลานดี สวมเสื้อผ้าใหม่ๆ สวยๆ แล้วก็ถึงคราวผู้ใหญ่จะแต่งตัวบ้าง

3.  เตรียมปิ่นโตบรรจุอาหารคาวหวาน ดอกไม้ ธูปเทียน พอง ลา บ้า 3 อย่างนี้ขาดไม่ได้ แต่ชนิดอื่นขาดไม่เป็นไร

4.  จัดตั้งสำรับกับข้าว 12 ที่ ใส่ถาดมีน้ำดื่มตั้งไว้ในห้องที่มิดชิด ปิดประตูใส่กลอนใส่กุญแจ แต่เปิดหน้าต่างเอาไว้ บอกกล่าวเชิญชวนให้ผีบรรพบุรุษที่ไม่ไปวัด กินข้าวกุศลในสำรับนี้

5.  สิ่งที่ขาดไม่ได้ในการไปวัดเดือนสิบ คือโกศบรรจุกระดูกของพ่อแม่ปู่ย่าตายายที่มีทั้งหมดในบ้าน ปะพรมน้ำหอม เช็ดถูให้สะอาด ใส่พานทูนบนศีรษะไปวัด โดยเอามือจับไปด้วยกันพลัดหล่น เพื่อนำไปบังสกุลกระดูก หลังพระภิกษุสามเณรฉันเพลแล้ว แต่หากไม่สะดวกที่จะทูน บางคนผูกติดไว้กับหมรับ แล้วทูนทีเดียวได้ 2 อย่าง บางคนก็ห่อผ้าเช็ดหน้าผืนใหญ่สอดไว้ในเชี่ยนหมาก เพราะตามปกติก็ต้องหิ้วเชี่ยนหมากไปด้วยแล้ว

6.   เชี่ยนหมากจะต้องเตรียมหมาก พลู ปูนไปเผื่อเพื่อนฝูงบ้าง หากเตรียมใจไปถวายพระด้วย ก็ต้องรู้ว่าพระองค์ใดฉันหมากแข็ง พระองค์ใดฉันหมากอ่อน เจ้าของเชี่ยนหมากจะไปโชว์การทำหมากรูปแมงพู่ ม้วนพลูจีบ ท่ามกลางผู้คนในโรงธรรม ถวายพระก็เตรียมของไปให้พร้อมเช่น มีดเจียนหมาก ด้ายขาว พานใส่หมาก เป็นต้น เผลอๆ ในเชี่ยนหมากยังเหน็บดอกไม้ธูปเทียนไปอีกด้วย

ปัจจุบันการเตรียมตัวไปวัดกันทั้งครอบครัว ต้องเตรียมข้าวปลา อาหาร ถ้วยชาม ช้อน เครื่องปรุงรส น้ำดื่มให้มากขึ้นกว่าปกติหลายเท่า เพราะพอพระฉันเพลเสร็จ ลูกหลานที่มีรถปิคอัพก็ปูเสื่อปูสาด เปิดเทป แจกชามช้อนและกินกันทุกตัวคนยังกะไปปิคนิคชายทะเล ยึดเอาโคนต้นมังคุดร่มรื่นเป็นใช้ได้ ไม่ต้องรอข้าวในปิ่นโตที่พระฉัน ก็ดูดีไปอีกแบบ ผีบรรพบุรุษที่มาพบปะลูกหลานเดือนสิบ เลยงงเป็นไก่ตาแตกไปตามๆ กันว่ามาผิดงานหรือเปล่า

การไปวัดเดือนสิบ

การไปวัดเดือนสิบ มักจะมุ่งไปทันพระฉันเพลมากกว่าฉันเช้า เพราะกว่าจะออกจากบ้านได้ก็สายมากแล้ว ก่อนเพลก็ดูกระบวนแห่จาดที่มีเปรตสมมติหรือทองสูงหรือหัวโตเดินนำ บางทีก็มีคนแต่งตัวเป็นภูตผีปีศาจ คนตกเบ็ด คนส้อนปลา คนขอทาน แต่เงินทองข้าวของที่ได้จะถวายพระทั้งหมด บางวัดปีหนึ่งมีจาดเข้าวัดมากมาย บางวัดอาจจะไม่มีเลย ปัจจุบันคงจะเป็นหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ที่จะต้องทำจาดไปวัดให้ทั่วถึง เพื่อให้ลูกหลานได้เข้าถึงประเพณีอันดีงามเหล่านี้

เมื่อแห่จาดเวียนขวาโรงธรรมหรือเจดีย์ในวัดแล้ว ก็เอาจาดเข้าไปถวายพระอุทิศทาน ชาวบ้านก็ไป “ตั้งเปรต” ตามที่ต่างๆ โดยเอาพอง ลา บ้า ไปตั้งตามเจดีย์ โคนไม้ข้างทางเข้าวัด ป่าช้า หรือไปตั้งสังเวยที่บรรจุกระดูกบรรพบุรุษ เพราะเชื่อกันว่าผีเปรตบางตนไม่กล้าเข้าวัดก็จะได้กิน หากกินแล้วก็อวยพรให้ลูกหลานอยู่ดีมีสุขเจริญก้าวหน้าตนเองก็กลับไปใช้กรรมต่อในนรกจนสิ้นกรรม (หากผีเปรตบรรพบุรุษตนใดมาที่บ้านก็ไม่ได้กินเครื่องเซ่นสังเวยพอง ลา บ้า มาวัดก็ไม่พบลูกหลาน ไม่ได้กินอะไรเลย ก็จะกวาดเอาใบไม้ใบหญ้าในวัดใส่ห่อพาย ไปกินในนรก พร้อมกับแช่งด่าลูกหลานของตน) เชื่อกันว่าผีเปรตโทษเบา ยมบาลจะปล่อยมารับบุญกุศลเดือนสิบตั้งแต่ขึ้น 8 ค่ำ แต่พวกโทษหนักเพิ่งปล่อยมาเมื่อแรม 8 ค่ำแล้ว

หลังเพลแล้วเด็กๆ ก็จะกลับบ้านกับพ่อแม่ญาติพี่น้อง ส่วนผู้เฒ่าผู้แก่จะรอบังสกุลกระดูกในโกศเสียก่อน เพื่ออุทิศทานให้เจ้าของกระดูกหรือผู้ตายได้รับบุญกุศลได้ด้วย ตนเองเลยจะได้ปิติจิตอิ่มบุญบารมีไปสู่โลกหน้า คงจะเปรียบได้กับเราถือหนังสือราชการที่เกี่ยวกับตัวเราไปส่งต้นสังกัดที่สูงขึ้นเช่นนั้น ความรู้สึกเปรมปรีด์จะมีอยู่ในตัวของมันเอง โดยยากที่จะบรรยาย

หลังจากเทศกาลเดือนสิบผ่านพ้นไป พองและบ้า พระสงฆ์ในวัดก็แจกจ่ายกันไปหรือตั้งไว้รับแขกในวัด เพราะเก็บไว้ไม่ได้นาน ผิดกับลาที่เก็บไว้นานเกือบปี ด้วยการอับ คือ กางคลี่แผ่นลาออกโรยด้วยน้ำตาลทรายให้ทั่วถึง พับหัวพับท้ายม้วนให้แม่น วางเรียงกันในไหที่ล้างสะอาดและแห้งสนิท ปิดไหด้วยถาด “ยา” ให้แน่นอย่าให้มีลมเข้า เมื่อเวลาผ่านไปสัก 2-3 เดือน ไม่มีอะไรกินก็เปิดออกมากินได้ แต่ปัจจุบันไม่นิยมเพราะมีของกินสำเร็จรูปแบบอื่นมากมาย

“เดือนสิบชาวนอกเขา” ยังมีอยู่จนปัจจุบัน (2543) แต่บางอย่างได้สูญหายไป เพราะมีเทคโนโลยีที่เหนือกว่าเข้ามาแทนที่ เป็นต้นว่า

1.  ใช้แก๊สแทนถ่านไม้พลา เด็กๆจึงไม่รู้จักไม้พลา

2.  ใช้น้ำมันแทนน้ำมันมะพร้าว เด็กเดี๋ยวนี้จึงขูดมะพร้าวด้วยเหล็กขูดไม่เป็น

3.  ใช้กระป๋องเจาะรูแทนพรกลา เด็กๆ จึงไม่รู้จักเก็บพรกลา

4.  ใช้ส้อมแทนไม้ตีมัน เด็กๆ จึงไม่รู้จักไม้ตีมัน

5.  พองส่วนมากซื้อสำเร็จรูป เด็กๆ จึงไม่รู้จักทำพิมพ์พองและเขี่ยพองไม่เป็น “สายพอง” ก็ถูกเรียกว่า “ลาย-พอง” ซึ่งคนละความหมาย

  6.  คำว่า “จาด” ไม่รู้จัก แต่ เรียกจาดว่า  “หมรับ” แทน แบบคนในตัวเมืองนครศรีธรรมราช
 

7.  หากพ่อแม่ให้ถือโกศใส่กระดูกไปวัด เด็กๆ จะว่ากลัวผีเคอะเขิน ถือบ้าถือบออะไรก็ไม่รู้ทำท่ากระแทกแดกดัน ผิดกับเด็กสมัยก่อนที่ถือโกศด้วยความเคารพนบนอบ ระมัดระวังดังถือกล่องดวงใจ

อย่างไรก็ตามเดือนสิบชาวนอกเขา ก็ยังคงอยู่แม้จะถูกปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปบ้าง ผู้เขียนใคร่ขอฝากชาวนอกเขารุ่นใหม่ว่า สิ่งใดที่ดีอยู่แล้วก็อย่าเปลี่ยนแปลงเลย เพราะนั่นคือเอกลักษณ์ ภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าที่คนรุ่นต่อไปจะได้เรียนรู้และภาคภูมิใจในวัฒนธรรมของเรา เป็นทรัพย์สินทางปัญญาของคนบ้านเราที่เจริญรุ่งเรืองมานับศตวรรษให้คงอยู่ในบทบาทหนึ่งของการพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของเมืองนครศรีธรรมราชสืบไป


 Print   
 บทความที่เกี่ยวข้อง Minimize

 Print   
Copyright © 2008 by สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ