Back Office : | Login  

ขณะนี้คุณอยู่ที่หน้า : ผลงานวุฒิอาสา > องค์ความรู้
 บทความของวุฒิอาสา Minimize

Tuesday, June 17, 2008  
 ทางสู่สังคมแห่งปัญญา (WISDOM SOCIETY)
:: 8381 Views :: ด้านการพัฒนาสังคม / ท้องถิ่น / ชุมชน

 โดย... พลอากาศตรี บุญเลิศ  จุลเกียรติ

พวกเราทุกคนคงยอมรับว่าขณะนี้มนุษยชาติ
กำลังเผชิญปัญหาอยู่มากมาย  ในขณะที่
วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกำลังก้าวหน้า
ไปอย่างไม่หยุดยั้ง  แทนที่เราจะได้ประโยชน์
ในการนำมาช่วยแก้ปัญหากลับดูเหมือน
จะยิ่งก่อให้เกิดปัญหาพอกพูนมากขึ้น
 

ทำไมจึงเป็นเช่นนี้ ?

                เรากำลังหลงทางอยู่หรือเปล่า  มนุษย์ส่วนใหญ่แยกแยะได้ว่าอะไรดี  อะไรไม่ดี ? อะไรควรทำ  หรืออะไรไม่ควรทำ ? แต่ทำไมเรามนุษย์ส่วนหนึ่งจึงยังกำลังทำสิ่งที่ไม่ควรทำ  และยังละเลยสิ่งที่ควรทำอยู่ ? ทั้งๆ  ที่รู้

คำตอบก็คือ

“เพราะเรารู้ไม่จริงนั่นเอง”

          มีผู้กล่าวว่า  ขณะนี้  ยุคนี้  มนุษย์กำลังอยู่ในยุคสังคมข้อมูลข่าวสาร  (INFORMATION  SOCIETY)  สหรัฐอเมริกากำลังมีความมุ่งมั่นให้มีการพัฒนาไปสู่ความเป็นสังคมแห่งความรู้  (KNOWLEDGE  SOCIETY)  ซึ่งขณะนี้ในปี ค.ศ. 2000  คงไม่มีข้อสงสัยแล้วว่าประเทศสหรัฐอเมริกากำลังเป็นมหาอำนาจ  ทั้งทางอาวุธ  ทางเศรษฐกิจ  และทางเทคโนโลยี  กล่าวคือสหรัฐอเมริกากำลังเป็น  KNOWLEDGE  SOCIETY  ที่ยิ่งใหญ่  แต่ขณะนี้คนอเมริกันจำนวนไม่น้อยกำลังทั้งวิตกและสงสัยว่า  เขาเดินมาถูกทางหรือไม่  เนื่องจากค่านิยมใหม่ๆ  ที่กำลังเกิดขึ้นขณะนี้กำลังบ่งชี้ว่าเราอาจจะกำลังเดินไปสู่ความเสื่อม  การสร้างสังคมแห่งความรู้  (KNOWLEDGE  SOCIETY)  จึงไม่น่าจะเป็นเป้าหมายสูงสุดของมนุษย์  เป้าหมายสูงสุดที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ถูกต้องและยั่งยืนได้ก็คือ  การมุ่งสู่การสร้างสังคมให้เป็นสังคมแห่งปัญญา  (WISDOM  SOCIETY)  และปัญญาที่แท้จริงคือปัญหาแห่งการรู้จักตนเองนั่นเอง

           ถ้าเรารู้ว่าเราคือใคร  และกำลังทำอะไรอยู่ในโลกใบนี้อย่างถ่องแท้แล้ว  เราจะช่วยกันป้องกันอุบัติเหตุ  เราจะช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อม  ปัญหาจริยธรรมวิชาชีพจะน้อยลง  และเราจะมีสุขภาพจิตที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน

มนุษย์คือใคร  และกำลังถูกกำหนดให้ทำอะไรอยู่ในโลกใบนี้ 

            ถ้าเรานับถือคริสต์ศาสนาหรือศาสนาอิสลาม  เราคือสิ่งที่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงสร้างมา  เพื่อให้รู้จัก  ศรัทธา  และเป็นพยานว่าพระองค์มีจริง  แต่ถ้าเรานับถือพุทธศาสนา  มนุษย์เป็นเพียงผลิตผลของการไหลเรื่อยของธรรมชาติตามเหตุและปัจจัย

              องค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ยิ่งใหญ่เป็นผู้สร้างสรรพสิ่งทั้งหลาย  โดยวางความเป็นไปที่เกิดขึ้นทั้งหมดให้ขึ้นอยู่กับกฎแห่งธรรมชาติเจ้า  และมนุษย์ผู้ค้นพบกฎแห่งธรรมชาติคือ  สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

            ความรู้ที่จะนำไปสู่ความเข้าใจตัวเองเพื่อพัฒนาให้เกิดสังคมแห่งปัญญา  คือ  รู้ความเป็นไปของธรรมชาติรอบตัว  และรู้จักธรรมชาติของตัวเอง

            1. ความเป็นไปของทุกสรรพสิ่งบนโลกนี้ขึ้นอยู่กับนิยาม 5 ข้อ  ที่เป็นกฎแห่งธรรมชาติที่คลุมหรือกำหนดความเป็นไปของโลกใบนี้อยู่  ได้แก่

  • อุตุนิยาม  คือ  กฎทางเคมีและฟิสิกส์
  • พีชนิยาม  คือ  กฎทางชีววิทยากรรมนิยาม  คือ  กฎแห่งกรรม ทำดีได้ความดี แต่ผลดี  จะเกิดขึ้นเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับนิยามอื่นๆ ด้วย  ในขณะเดียวกันทำชั่วจะเกิดเป็นความชั่วแน่  แต่ผลชั่วจะตอบสนองเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับเหตุและปัจจัยอื่นๆ ด้วย
  • จิตนิยาม  คือ  กฎแห่งกลไกของธรรมชาติของจิต  จริตความนึกคิดของคนมีหลากหลาย  ความกดดันอย่างเดียวกันจะทำให้เกิดการตอบสนองในลักษณะที่ต่างกันในแต่ละบุคคลได้
  • ธรรมนิยาม  คือ  กฎแห่งความเกี่ยวข้องต่อเนื่องกันของทุกๆ นิยามที่กล่าวมาแล้ว  เพราะมีสิ่งที่เป็นเหตุ  จึงมีสิ่งนี้เป็นผลต่อเนื่องกันไป

             ใครก็ตามที่เข้าใจกฎหรือนิยาม  5  นี้อย่างถ่องแท้  จะเกิดความตระหนักว่า  ทุกคนในสังคมล้วนแต่มีส่วนที่จะต้องร่วมสร้างสรรค์  และรับผลในรูปแบบต่างๆ  ที่จะเกิดขึ้นกับสังคม  ศาสนาอิสลามสอนว่า  “ถ้ามนุษย์ไม่ช่วยกันกำจัดความชั่วร้าย  เวลาพระเป็นเจ้าลงโทษ  คนดีอาจถูกติดร่างแห”  มีประโยคที่งดงามกล่าวไว้ว่า  “การเด็ดดอกไม้ของเราอาจกระเทือนได้ถึงดวงดาว”  และเมื่อมนุษย์เกิดความตระหนักในข้อนี้  ก็จะสร้างเป็นสำนึกในความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคมในการที่จะทำในสิ่งที่ถูกต้อง  และเสริมสร้างระบบคุณธรรม  ชอบธรรม  และยุติธรรมที่มั่นคงในสังคม  เนื่องจากเราทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของระบบนี้และจะต้องอยู่ในระบบนี้ไปตลอดชีวิต  องค์พระเป็นเจ้าท่านสร้างสรรพสิ่งในจักรวาลนี้อย่างสมดุล  ท่านให้ทุกๆ  อย่างมา  รวมทั้งความยุติธรรมด้วย  โดยท่านมอบให้มนุษย์เป็นผู้รักษา  ใครที่มีโอกาสจะรักษาความชอบธรรมและยุติธรรมในสังคม  แต่ยังปล่อยปละก็ไม่ควรจะร้องว่าความชอบธรรมและยุติธรรมไม่มีในโลก

            2.   การรู้จักธรรมชาติของตัวเอง  มนุษย์และสัตว์ทั้งหลายล้วนแต่ถูกบงการไว้ล่วงหน้าแล้วว่าในวงจรชีวิตจะต้องมีการดิ้นรน สืบพันธุ์ก่อนตาย  ถ้าจะย่อวงจรชีวิตของมนุษย์ก็จะได้วงจรพื้นฐานดังนี้  

         สัญชาตญาณ 4 อย่างที่มนุษย์และสัตว์ถูกครอบงำมาตั้งแต่ต้นก็คือ

                    สัญชาตญาณแห่ง     กิน

                                            นอน

                                            ปกป้องอันตราย

                                            เสพ  กาม  (สืบพันธุ์)

            ถ้ามนุษย์กินไม่พอเหมาะ  นอนไม่พอดี  เสพ  กามอย่างขาดสันโดษ  หรือปกป้องตนเองอย่างผิดๆ  โดยเป็นคนขี้โมโห  ขี้กลัว  ขี้ระแวง  ขี้อิจฉา  บ้าอำนาจ  อหังการ์  ชอบป้ายความผิดให้ผู้อื่น  สิ่งที่เราต้องพบคือปัญหาหรือความทุกข์นั่นเอง

            มนุษย์ถูกสร้างมาให้มีทั้งสองด้านของทุกๆ  สิ่งอยู่ในตัว  เรามีทั้งความฉลาดและความโง่  ความเมตตาและความเหี้ยมโหด  ความขยันและความขี้เกียจ  ปมเด่นและปมด้อย  ความเสียสละและความโลภ  มนุษย์จึงเป็นทั้งผู้ที่ก่อตั้งมูลนิธิ  หรือเป็นผู้ที่สะสมของส่วนเกินอย่างโง่เง่า  อาหารในโลกนี้ถ้ารวมกันแล้วจะนำมาเลี้ยงมนุษย์ทั้งโลกให้อิ่มหนำได้เหลือเฟือ  แต่มนุษย์อีกหลายร้อยล้านคนยังอยู่อย่างหิวโหย  เงินทุกสกุลในโลกนี้ถ้านำมารวมกันแล้ว  จะแบ่งปันให้เกิดความมั่งมีได้ถ้วนหน้า  แต่มนุษย์อีกหลายร้อยล้านคนยังดำเนินชีวิตอยู่ท่วมกลางหนี้สินที่ท่วมตัว

            สังคมแห่งปัญญา  (WISDOM  SOCIETY)  จะเกิดขึ้นได้  ถ้าเราสามารถปลุกมนุษย์ให้ตื่นมาพบกับความจริงในตัวเองว่าในวงจรชีวิตเรา  พอแตกเนื้อหนุ่มสาวก็เกิดกำหนัด  เมื่อจับคู่สมรสเราก็ได้ลูกที่น่ารักมาอบรมเลี้ยงดูจนลูกแตกเนื้อหนุ่มสาว  เขาก็ถูกความกำหนัดมาครอบงำ  จนเราได้ลูกเขย  ลูกสะใภ้  หลังจากนั้นไม่นาน  หลานที่น่ารักสุดๆ  ของเราก็เกิดมาให้ลูกเราเลี้ยง  (ซึ่งเราก็ต้องไปช่วยเขาเลี้ยงด้วยเป็นครั้งคราว)  จนหลานเราโตจนเริ่มจะกำหนัดเป็น  ธรรมชาติก็ยิ้มให้เราและบอกว่า  “เอ็งทำหน้าที่ของเอ็งอย่างสมบูรณ์แล้ว  เอ็งมีลูก  ลูกเอ็งมีหลาน  และหลานเอ็งกำลังจะมีเหลนต่อ  ประกันได้ว่าเผ่าพันธุ์มนุษย์ไม่สูญแน่  ดังนั้นหมดหน้าที่เอ็งแล้ว  จงรับเอาแต่ความแก่  ความเจ็บ  และความตายไปเถิด”  มีเพียงแค่นี้เองสำหรับวงจรชีวิตของเรา  ระหว่างที่มีชีวิตอยู่ธรรมชาติได้ล่อให้พวกเราก้มหน้าก้มตารับใช้  โดยใช้รางวัลน้อยใหญ่มากระตุ้นและผลักดันโดยเราอาจไม่รู้ตัว  อาทิเช่น  ความปิติยิ่งยวดของกาม  ความสุนทรีแห่งศิลปแขนงต่างๆ  ความงดงามของธรรมชาติ  ความตื่นเต้นเร้าใจของกีฬา  ความภาคภูมิในความสำเร็จของตัวเองและลูกหลาน ฯลฯ  และหลอกให้เราสะสมของส่วนเกินอย่างโง่เขลา

            คนฉลาดจะเริ่มตื่นตัว  และมองให้พบความจริงว่าความแน่นอนที่สุดในโลกนี้คือความไม่แน่นอน  ขณะที่เรากำลังก้มหน้าก้มตารับใช้ธรรมชาติอยู่นี้  ไม่มีใครบอกได้ว่าเราจะมีลมหายใจเหลืออีกคนละกี่เฮือก  ความเจ็บป่วยและความตายเกิดขึ้นได้ทุกขณะ  คนเขลาจะสะสมความชั่วเพื่อให้ได้มาซึ่งเงินหรือของส่วนเกินมากๆ  แต่อาจตายก่อนได้ใช้เงินก็ได้  คนฉลาดจะเริ่มมองตนเองให้ลึกซึ้ง  ค้นให้พบทั้งส่วนดีและส่วนบกพร่องของตนเอง  เมื่อพบส่วนที่ดีก็จงรักษาและพยายามนำเอาความดีที่มีอยู่มาสร้างสรรให้เกิดประโยชน์เต็มที่  และเมื่อพบความเลวหรือความบกพร่องของตนก็พยายามกำจัด  และควบคุมไม่ให้เกิดเป็นโทษขึ้นมาต่อทั้งตนเองและสังคม  ในขณะเดียวกันความสนุก  ตื่นเต้น  เพลิดเพลิน  เร้าใจ  ที่ธรรมชาติสร้างมาล่อเรานั้น  เราก็จะเสพ  มันอย่างรู้เท่าทัน  มีกติกา  ไม่ตกเป็นทาส  และรับรสความสุนทรีเหล่านั้นเต็มอิ่ม  คุ้มค่า  สังคมแห่งปัญญาต้องเป็นสังคมที่สมดุลและความสมดุลดังกล่าวคือความสมดุลของปัญญาแห่งความเข้าใจชีวิต  และความยึดมั่นในความดีงามและถูกต้อง

            กุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่สังคมแห่งปัญญาที่มีความปรกติสุข  คือ  กุญแจที่มีด้ามเป็นปัญญาแห่งความเข้าใจธรรมชาติมนุษย์  และมีร่องที่ประทับบนด้ามด้วยคุณธรรม
อย่างน้อย  5  ข้อ  (5  ร่อง)  คือ

1.  ร่องแห่งวินัย  (ซึ่งเป็นพื้นฐานของความรับผิดชอบ  และความซื่อสัตย์สุจริต)

2.  ร่องแห่งความรักความเมตตา  (พรหมวิหาร ธรรม ซึ่งเป็นคุณธรรมที่ค้ำจุนโลก)

3.  ร่องแห่งความอ่อนน้อมถ่อมตน  (เพื่อเปิดโอกาสให้มนุษย์ยอมพัฒนาตนเอง)

4.  ร่องแห่งความกตัญญูกตเวที  (ซึ่งเป็นมารดาแห่งความดีงามทั้งปวง)

5.  ร่องแห่งความไม่ยึดติดวัตถุ  ไม่ละโมบ  โลภมาก


              กุญแจดอกนี้ถ้าใครมีติดตัว  เมื่อเกิดปัญหาก็สามารถนำไปไขปัญหาได้เกือบทุกรูปัญหา  หรือใครอยากจะดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข  ก็สามารถนำกุญแจดอกนี้ไปเปิดได้เกือบทุกประตูแห่งความสุข

              เป็นหน้าที่ของทุกๆ  คนที่อยากอยู่ในสังคมแห่งปัญญาที่จะต้องช่วยกันกระตุ้นให้สังคมที่เราอยู่  เกิดความตระหนักในการปลูกฝังปัญญาแห่งความเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์  ควบคู่ไปกับความเชื่อมั่นในคุณธรรม  และส่งเสริมให้เกิดระบบความชอบธรรม  ยุติธรรม  และคุณธรรมอย่างแท้จริงในสังคม

               ขณะนี้เกิดปัญหาสามระดับในสังคม  คือ.-

1.  มนุษย์เริ่มสับสนว่าอะไรถูกอะไรผิด

2.  มนุษย์รู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด  แต่ยังไม่ทำสิ่งที่ถูกต้อง  หรือยังทำสิ่งที่ผิดอยู่

3.  มนุษย์ที่กำลังทำถูกต้อง  และละเว้นสิ่งที่ควรละเว้นแล้ว  ทำไมยังไม่มีความสุขเท่าที่ควร

                ปัญหาดังกล่าวสามารถแก้ไขได้โดย

1.  การสร้างระบบข้อมูลข่าวสาร (INFORMATION) ที่ไม่บิดเบือนด้วยความโลภ

2.  การปลูกฝังความรู้  (KNOWLEDGE) อย่างไม่หลงทาง

3.  การปลูกให้มนุษยชาติตื่นขึ้นมาพบกับความจริงของชีวิต  (WISDOM)  เพื่อมอบความภักดีแด่องค์พระเป็นเจ้าผู้ยิ่งใหญ่  (ถ้าเราเป็นคริสตศาสนิกชนหรือเป็นมุสลิม)  หรือเพื่อจะตื่น  รู้  และเบิกบานในธรรมอันเป็นสิ่งที่องค์พระผู้มีพระภาคเจ้าได้แจ้งแล้ว  (ถ้าเราเป็นพุทธศาสนิกชน)

                คนดีในโลกนี้มีอยู่มากมาย  และคนดีที่ยังมีความทุกข์ยังมีอยู่มากหลาย  การพัฒนามนุษย์ให้เป็นคนเก่งและคนดียังไม่เพียงพอ  ต้องพัฒนามนุษย์ให้เป็นผู้มีความสุขให้เป็นด้วย  คนเก่งและคนดีที่จะมีความสุขได้ต้องเป็นคนเก่งและคนดีที่มีปัญญาเท่านั้น  คนมีปัญญาที่ไม่ทำสิ่งที่ถูกต้อง  ยังต้องเจอปัญหามากมาย  คนดีที่ขาดปัญญาก็ยังทุกข์อยู่เต็มโลก  สังคมแห่งปัญญา  (WISDOM  SOCIETY)  จะเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง  ก็โดยการปลูกฝังให้เกิดปัญญาและความเข้าใจธรรมชาติอย่างถ่องแท้  จนเกิดความมั่นคงและมั่นใจในการกระทำที่เป็นความถูกต้องดีงามเท่านั้น

                ความรู้มีส่วนมากในการเปลี่ยนพฤติกรรมมนุษย์  แต่ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าจะเป็นการเปลี่ยนไปในทิศทางที่ถูกต้อง

ปัญญาเท่านั้น  ที่จะทำให้การพัฒนาพฤติกรรมของมนุษย์เป็นไปในทิศทางที่ถูกต้อง

พระเดชพระคุณท่านอาจารย์พระธรรมปิฎก.  (ป.อ. ปยุตฺโต)  กล่าวไว้ว่า

                มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐได้ด้วยการฝึก  ปัญญา  ทำให้เกิดอิสรภาพทั้งร่างกายและจิตใจ  สัตว์อาศัยกิเลสตัณหา  สัญชาตญาณทำให้อยู่รอด  มนุษย์ควรดิ้นให้พ้นจากการอยู่รอดด้วย  กิเลส  ตัณหา  มาเป็นการอยู่รอดด้วยปัญญา

                ถ้าสถาบันการศึกษา  และองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์  มุ่งแต่จะให้ความรู้หรือจัดให้เข้าค่าย  เพื่อสร้างความตระหนัก  โดยไม่เน้นเรื่องการพัฒนา  ปัญญา  แล้ว

-   คอร์รัปชันจะไม่เบาบางไปจากแผ่นดิน

-   ปัญหาสังคมก็จะยังคงทับถม

-   และเด็กอาชีวะ  ก็จะยังตีกันต่อไป


 Print   
 บทความที่เกี่ยวข้อง Minimize

 Print   
Copyright © 2008 by สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ