Back Office : | Login  

ขณะนี้คุณอยู่ที่หน้า : ผลงานวุฒิอาสา > องค์ความรู้
 บทความของวุฒิอาสา Minimize

Tuesday, June 17, 2008  
 อยากมีความสุข
:: 4258 Views :: ด้านการศึกษา

 โดย... พลอากาศตรี บุญเลิศ  จุลเกียรติ

ใครที่อยากมีความสุขก็เร่เข้ามา  ก่อนจะมีความสุขต้องรู้ก่อนว่าคนเราจะมีความสุขหรือไม่  มากน้อยแค่ไหน  ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบ 5 ข้อ คือ
 

            1.  ดวงชะตา

            2.  สุขภาพ

            3.  สิ่งแวดล้อม

            4.  กรรม (การกระทำของตนเอง)

            5.  ปัญญา

            องค์ประกอบสามข้อแรกจะว่าไปแล้วมันก็ดูจะเกี่ยวกันอยู่บ้างในบางลักษณะ  คนดวงดีก็อาจจะเกิดมาสุขภาพดีในสิ่งแวดล้อมที่เกื้อกูลให้มีความสุข  แต่การมีสุขภาพที่ดีและการได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีไม่ได้ขึ้นอยู่กับดวงอย่างเดียว  แต่ขึ้นอยู่กับการกระทำหรือกรรมของแต่ละคน  และแต่ละสังคมชุมชนด้วย

            ผู้เขียนมีความเชื่อเป็นการส่วนตัวว่า  ดวงชะตามีจริงแต่สิ่งที่ทำให้เราเป็นในขณะนี้  และสิ่งที่ทำให้เราเป็นเราในอนาคต  คือ “กรรม”  หรือการกระทำของเรานั่นเอง  เราแต่ละคนอาจถูกดวงชะตากำหนดมาแล้วเป็นเส้นลางๆ  แต่กรรมจะเป็นตัวลิขิตที่ชัดเจน  ต่อให้เราเกิดมาโชคดีมีพื้นสุขภาพดีมาตั้งแต่เด็ก  แต่ถ้าเรายังนอนดึก  เที่ยวดึก  ดื่มเหล้า  สูบบุหรี่  สุขภาพก็ย่อมเสื่อมโทรมลงได้

            สิ่งแวดล้อมก็เช่นกัน  จะดีหรือไม่ดีแค่ไหนขึ้นอยู่กับกรรม  คือ  การกระทำของทุกๆ  หน่วยในสังคมเป็นส่วนใหญ่  จะขึ้นอยู่กับดวงบ้างไม่มากนัก  ใครที่เคยรู้สึกว่าโลกนี้ขาดความยุติธรรมและสังคมยังขาดความชอบธรรม  พึงตระหนักว่าแท้จริงแล้ว  ความยุติธรรมและความชอบธรรมอยู่ในมือเราทุกคนแล้ว  เพียงแต่เราจะนำออกมาใช้หรือไม่เท่านั้นใครที่ยังเล่นพรรคเล่นพวก  ประจบสอพลอ  จงอย่าได้บ่นว่าโลกนี้ขาดความยุติธรรม  ใครที่ยังมองความสามารถในการหลีกเลี่ยงกฎหมายหรืออยู่เหนือกฎหมายว่าเป็นการน่ายกย่อง  ก็จงอย่าบ่นต่อไปว่าสังคมนี้ขาดความชอบธรรม  ถ้าเราต้องการความสุขที่ไม่ฉาบฉวยจอมปลอม  เราต้องตระหนักว่า  เป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะต้องช่วยกันทำให้สิ่งแวดล้อมที่เราอยู่เป็นสิ่งแวดล้อมที่ดีงาม  มีคำสอนในศาสนาอิสลามกล่าวไว้ว่า  “ถ้ามนุษย์ไม่ช่วยกันกำจัดความชั่วร้ายเวลาพระเป็นเจ้าลงโทษ  คนดีอาจถูกติดร่างแห”

            ดวงชะตาถ้ามีจริงก็อาจเป็นสิ่งที่เรากำหนดไม่ได้และก็คงไม่จำเป็นต้องรู้ว่าใครเป็นผู้กำหนด  เช่นเดียวกับหลายๆ  อย่างที่เราไม่จำเป็นต้องรู้  เช่น  เรื่องของเคราะห์  เรื่องของจักรวาล  เรื่องของชาติก่อนชาติหน้า ฯลฯ  ซึ่งสิ่งเหล่านี้เคยมีผู้ทูลถามพระบรมศาสดาในสมัยพุทธกาล  ซึ่งท่านก็ทรงตอบว่ายังมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่มนุษย์หาคำตอบไม่ได้  และก็ไม่จำเป็นต้องหาคำตอบให้เสียเวลา  เพราะคำตอบซึ่งถึงแม้จะได้มาก็ไม่มีประโยชน์ในการนำมาใช้ดับทุกข์  คำตอบหรือวิธีที่มนุษย์สามารถนำมาใช้ดับทุกข์ได้มีอยู่แล้ว  ตามที่ทรงแสดงไว้ในโอวาทปาฏิโมกข์  นั่นก็คือ  ผู้ใดต้องการพ้นจากความทุกข์  หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ  ต้องการมีความสุข  พึงปฏิบัติ 3 ประการ ได้แก่

            1.  จงละจากความชั่วทั้งปวง

            2.  จงกระทำในสิ่งดีงามอันพึงกระทำ

            3.  จงทำจิตให้ตื่น  รู้  และเบิกบานด้วยปัญญา

            ปัญญาที่แท้จริงคือ  ปัญญาแห่งความรู้เท่าทันธรรมชาติตามความเป็นจริง  และการรู้เท่าทันธรรมชาติ  คือความเข้าใจในไตรลักษณ์อย่างถ่องแท้นั่นเอง  ไตรลักษณ์  คือ  ลักษณะสามประการของธรรมชาติซึ่งมีอยู่ในทุกสรรพสิ่ง  องค์พระบรมศาสดาท่านตรัสรู้และเห็นแจ้งว่า  แท้จริงแล้วทุกสรรพสิ่งมีลักษณะสามประการในตัว  คือ  ทุกขัง  อนิจจัง  และอนัตตา  นั่นก็คือทุกสรรพสิ่งเป็นเพียงการปรุงแต่ง  ที่มีการเกิดขึ้น  ตั้งอยู่  ดับไปโดยไม่สามารถทนในสภาพเดิมได้ มีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ  ตามเหตุและปัจจัยโดยมิได้มีตัวตนเป็นตนเองที่แท้จริง

            เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างต้องมีการเปลี่ยนแปลงหมุนเวียนไปตามธรรมชาติของมัน  การเปลี่ยนแปลงที่เราพอใจ  เราก็ดูว่ามันเป็นความสุข  การเปลี่ยนแปลงที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรา  เราก็รู้สึกเฉยๆ  แต่การเปลี่ยนแปลงใดที่เราไม่พอใจ  เราก็จะรู้สึกเป็นทุกข์  และจะว่าไปแล้วพื้นฐานของความทุกข์ทั้งปวงล้วนเกิดมาจากการติดยึดในความเป็นตัวกูและของกูนั่นเอง

            สาเหตุที่มนุษย์มีความติดยึดในความเป็นตัวกูและของกูอย่างเหนียวแน่นเนื่องมาจากสิ่งมีชีวิตทุกชนิดที่อุบัติมาในโลกนี้  ล้วนแล้วแต่ถูกกำหนด  หรือบงการให้ต่อสู้ดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดจนกระทั่งได้สืบพันธุ์ก่อน  แล้วจะถูกปล่อยให้ตายไป  ธรรมชาติจึงยัดเยียดสัญชาติแห่งความเป็นตัวกูและของกูมาให้พวกเราเกาะติดอย่างเหนียวแน่น  เพื่อจะได้ดิ้นรนทุกวิถีทางที่จะทำให้ตัวกูอยู่รอด  จนสามารถมีลูกกูและหลานกูตอบสนองบงการของธรรมชาติต่อไปนั่นเอง  มนุษย์ถูกสร้างมาให้มีความฉลาดสารพัด  แต่ก็ถูกสร้างมาให้โง่บัดซบด้วย  เพราะถ้าเราฉลาดสุดๆ  อย่างเดียว  เราจะปฏิวัติธรรมชาติได้สำเร็จและดิ้นตัวเองให้หลุดจากวัฏสงสารไม่ต้องเป็นทาสรับใช้ธรรมชาติเหมือนเช่นทุกวันนี้  ธรรมชาติจึงสร้างให้โลกนี้ดูงดงาม  และให้อารมณ์อันสุนทรีในศิลปะแขนงต่างๆ  เพื่อให้มนุษย์หลงอยู่ในความเบิกบาน  ในขณะเดียวกันก็ให้ความโง่จากความติดยึดในความเป็นตัวกูและของกูติดตัวเรามาด้วย  เพื่อให้เราดิ้นไม่หลุดจากวัฏสงสารนี้

            และเพราะความโง่นี่เอง  มนุษย์จึงต่อสู้ดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดแบบผิดๆ  เรายังแย่งกันกิน  แย่งที่ดินกันนอน  อิจฉา  ริษยา  ให้ร้ายป้ายสี  แก่งแย่งชิงดี  และรบราฆ่าฟันกันด้วยความโง่เขลา  เพราะความโง่นี่เอง  เราจึงมีความเจ้าชู้  สำส่อน  และประพฤติผิดในกาม  จนเป็นสาเหตุทำให้เกิดทุกข์มากมายหลายรูปแบบจนเป็นปัญหาเต็มโลกอยู่ขณะนี้

            ถ้าจะสรุปให้ชัดเจน  ต้นตอสำคัญที่ทำให้เกิดความทุกข์ของมนุษย์ก็คือความโง่  และการติดยึดในความเป็นตัวกูและของกูแบบโง่ๆ  นั่นเอง  และเพราะความโง่เราจึงยังทำสิ่งที่เป็นความชั่ว  เพราะความโง่เราจึงยังละเลยการกระทำความดี  และเพราะความโง่และความติดยึดในความเป็นตัวกูและของกู  เราจึงยังเป็นทุกข์กับความเปลี่ยนแปลงซึ่งไม่มีใครห้ามไม่ให้เกิดได้

            ดังนั้น  ใครอยากมีความสุข  ถึงแม้เราจะกำหนดดวงชะตาของเราเองไม่ได้เต็มที่  เราก็สามารถรักษาสุขภาพของเราให้ดีตามกำลังความรู้ความสามารถ  สามารถช่วยกันจรรโลงสิ่งแวดล้อมและระบบการอยู่ร่วมกันในสังคมให้ดีขึ้นได้  และที่สำคัญคือเราจะต้องเชื่อมั่นในกฎแห่งกรรมและมุ่งมั่นที่จะละจากความชั่วทั้งปวง  และทำความดีในทุกโอกาสที่จะกระทำได้ตามกาลเทศะที่เหมาะสม

            สิ่งที่ยังเป็นที่คลุมเครือสำหรับหลายๆ  คนก็คือ  ทำไมคนเป็นจำนวนไม่น้อยที่กระทำแต่ความดีจึงยังเป็นทุกข์  คำตอบคือ

            1.  เพราะทำดีไม่พอ

            2.  เพราะทำดีแต่ไม่ฉลาด

            การกระทำความดีแล้วมีความสุขได้  ต้องแยกแยะระหว่างความดีกับผลดีให้ชัดเจนเสียก่อน  เมื่อเราทำดี  สิ่งที่เกิดขึ้นทันทีคือความดี  ส่วนผลดีจะเกิดขึ้นเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับเหตุและปัจจัย  และเมื่อเราทำชั่ว  สิ่งที่เกิดขึ้นทันทีก็คือความชั่ว  และผลชั่วจะเกิดขึ้นเร็วหรือช้าก็ขึ้นกับเหตุและปัจจัยอื่นๆ  อีกเช่นกัน

            การทำดีที่จะได้เป็นผลดีชัดเจนหรือไม่ดีขึ้นอยู่กับเราทำดีพอหรือเปล่า  และเมื่อทำดีแล้วจะมีความสุขหรือไม่ขึ้นอยู่กับว่าเราทำดีด้วยปัญญาหรือทำดีด้วยความโง่

            การทำดีให้พอ

1.  ต้องเป็นการทำดีที่พร้อมด้วยกาย  วาจา  และใจ

2.  ทำดีถูกกาลเทศะ  (ไม่ทำดีเอาหน้า  ไม่ทำดีแล้วเด่น  ข้ามหน้าข้ามตาผู้อื่น  และไม่คบคนพาล)

3.  ทำดีด้วยความเชื่อมั่นในความดี  มีความอดทนเพียงพอ

            หลายคนทำความดีไม่ได้ผลดีเท่าที่คาดหวัง  เพราะทำดีแต่ปากเสีย  ทำดีแต่ไปข้ามหน้าผู้อื่นและทำดีแต่ขาดความอดทน ฯลฯ

            คนที่ทำเต็มที่แล้ว  ยังมีจำนวนไม่น้อยที่ยังมีความทุกข์อยู่  ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากทำดีแต่ไม่ฉลาด  คือทำดีแต่ยังติดยึดนั่นเอง

            ใครอยากจะก้าวมาถึงจุดที่

1.  หากภารกิจที่เราทำอย่างเต็มความสามารถได้ผลออกมาไม่เป็นตามที่คาดไว้  เราจะไม่เสียใจ

2.  เราจะรับทราบข่าวการจากไปตามธรรมชาติของคนที่เรารักได้โดยไม่หวั่นไหว  และ

3.  เราจะรับทราบถึงระยะสุดท้ายของชีวิตเราได้ด้วยความมั่นคงของจิตใจ

            ผู้ที่จะมาถึงจุดนี้ได้จะต้องทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด  และมีความศรัทธาในองค์พระเป็นเจ้าอย่างเที่ยงแท้  ถ้าเราเป็นคริสตศาสนิกชน  หรือเป็นมุสลิม  แต่สำหรับพุทธศาสนิกชน  เราจะถึงจุดนี้ได้ถ้าเราทำหน้าที่ของตนเองอย่างดีที่สุด  และมีปัญญาแห่งความเข้าใจในไตรลักษณ์อย่างกระจ่างชัด

            งานที่เราตั้งใจทำเต็มที่อาจไม่ประสบผลสำเร็จตามที่คาดไว้  เพราะอาจมีสาเหตุอื่นหรือการเปลี่ยนแปลงอื่นๆ  เกิดขึ้นได้โดยไม่คาดคิด  งานจะประสบผลสำเร็จหรือไม่จึงไม่สำคัญเท่ากับว่าเราได้พยายามเต็มที่ในทุกๆ  ด้านหรือยัง

            ผู้ที่เรารักที่สุด  หรือแม้แต่ตัวเราเองมีโอกาสจะหมดลมหายใจไปจากโลกนี้เมื่อไรก็ได้  การจะหมดลมหายใจเมื่อใดจึงไม่สำคัญเท่ากับว่าเราได้เตรียมทุกอย่างให้พร้อมแล้วหรือยัง

            วิธีเตรียมพร้อมที่ดีที่สุดก็คงจะไม่มีอะไรดีไปกว่าการทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด  ด้วยปัญญาที่แท้จริงเท่านั้น  นั่นก็คือ  เราท่านทั้งหลายพึงที่จะ

1.  ละความชั่วทั้งปวง  

2.  กระทำความดีเท่าที่ทำได้อย่างเหมาะสม  และ

3.  ยึดมั่นในองค์พระผู้เป็นเจ้าอย่างมั่นคง  ถ้าเราเป็นคริสตศาสนิกชน  หรือเป็นมุสลิม  และถ้าเราเป็นพุทธศาสนิกชน  ก็ต้องพัฒนาปัญญาให้ถึงความเข้าใจในไตรลักษณ์อย่างถ่องแท้เพื่อลดความติดยึดอันเป็นเหตุที่ทำให้ทุกข์

            ปัญญาอาจจะเกิดได้จากการฟัง  การอ่าน  (สุตมยปัญญา)  อาจเกิดจากการนำไปคิดไตร่ตรอง  (จินตามยปัญญา)  แต่ถ้าทั้งฟังทั้งอ่านและทั้งคิดไตร่ตรองแล้วก็ยังทำใจไม่ได้ก็คงต้องพึ่งภาวนามยปัญญา  คือการทำจิตให้สงบมีพลังด้วยสมถะกรรมฐาน  และนำเอาสิ่งที่เคยฟัง  และเคยคิดมาแล้วแต่ยังคิดไม่ตกมาพิจารณาใหม่ขณะที่จิตกำลังมีพลัง  (วิปัสนากรรมฐาน)  ปัญญาที่แท้จริงก็อาจจะเกิดขึ้นได้

            ขอแถมคาถาสำหรับผู้ที่อยากมีความสุข 2 คาถา  เป็นการส่งท้าย

            คาถาแรก  “จงอย่าทุกข์เพราะความเลวของผู้อื่น  จงทุกข์เมื่อตนเองเลว”  แล้วเราก็จะคุมความทุกข์ได้ถ้าเราไม่ประพฤติผิด

            คาถาที่สอง  คือ  หินก้อนใหญ่ๆ  มักหนักก็จริงอยู่แต่ถ้าเราไม่ไปยกมัน  มันก็น่าจะไม่หนัก  เพราะฉะนั้น     “ปล่อยวางซะบ้างเถิดโยม”


 Print   
 บทความที่เกี่ยวข้อง Minimize

 Print   
Copyright © 2008 by สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ