Back Office : | Login  

ขณะนี้คุณอยู่ที่หน้า : ผลงานวุฒิอาสา > องค์ความรู้
 บทความของวุฒิอาสา Minimize

Tuesday, June 17, 2008  
 เศรษฐกิจพอเพียงคืออะไร
:: 7988 Views :: ด้านการพัฒนาสังคม / ท้องถิ่น / ชุมชน

 โดย... รศ.ดร.ธีระ  ประพฤติกิจ

ความนำ

ปัจจุบันคนไทยกำลังตื่นตัวเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงกันมากขึ้นเนื่องจากฉลองการครองราชย์ครบ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่ก็ยังมีคนจำนวนมากที่ยังไม่เข้าใจ ทั้งๆ ที่มีบุคคลหลายคนพยายามอธิบายแต่ก็ยังมีบางคนที่ยังไม่สามารถเข้าถึงความหมายและพระประสงค์ขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ ยิ่งบางคนที่ยังมี “อคติ” ต่อระบบทุนนิยม หรือคนรวยก็จะอธิบายเชิงตำหนิระบบทุนนิยมและคนรวยว่าไม่รู้จักพอเพียงหรือโลภมาก ทำให้คนที่มีฐานะดีมีความร่ำรวยเพราะการก่อร่างสร้างตัวมาอย่างประหยัด อดออม ถ่อมตน อดทน อดกลั้น มาสมัยปู่ย่าตายาย เกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ ไม่นิยมหรือรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ต่อทฤษฎีนี้ ส่วนคนจนก็รู้สึกว่าตนเองจะทำไม่ได้ เพราะทุกวันนี้ก็ไม่พอกินอยู่แล้วจะ “พอเพียง” ได้อย่างไรและที่สำคัญกว่านั้นคือ ทำให้เกิดความอิจฉาริษยาและแตกแยกระหว่างคนรวยกับคนจน และระหว่างคนรวยกับคนที่พยายามอธิบายแบบอคติลำเอียงเข้าข้างตนเองและไม่เข้าใจทฤษฎีขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างถ่องแท้ ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วทฤษฎีเศรษฐกิจแบบพอเพียง คือ หลักแห่งการเดินสายกลางและการพึ่งตนเอง ซึ่งเป็นแก่นของพระพุทธศาสนาที่สามารถเข้ากันได้กับทุกยุคทุกสมัย ทุกชาติทุกภาษา ทุกศาสนา ทุกครอบครัว ทุกคน หรือทุกชีวิตในโลก ไม่ว่ารวยหรือจนก็ตาม เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ของเราทรงเป็นปราชญ์ย่อมเป็นกลางและทรงเข้าใจว่าความรวย ความจนเป็นเรื่องธรรมชาติ ไม่ทรงตรัสว่าอะไรดีหรือเลวทั้งหมดและที่สำคัญคือไม่ทรงปรารถนาให้เกิดความแตกแยกและการต่อต้านทฤษฎีของพระองค์

ความพอเพียงคืออะไร

ก่อนอื่นต้องขออธิบายว่า ความพอเพียงคืออะไร ความจริงแล้ว มีคำหลายคำที่มีความหมายพ้องกับคำนี้ เช่น คำว่า เดินสายกลาง พอดิบพอดี เพียงพอ พอประมาณ พอเหมาะพอควร สมดุลและเป็นธรรมชาติ เป็นต้น คนที่ทำอย่างนี้ได้ ต้องเป็นคนรู้จักตน รู้จักคน รู้จักประมาณ รู้จักกาล รู้จักชุมชน และที่สำคัญต้องขยัน ประหยัด อดออม ถ่อมตน อดทน อดกลั้น ซื่อสัตย์สุจริต รับผิดชอบ และพึ่งตนเอง เมื่อคิดและทำอย่างนี้แล้วจนเป็นนิสัยก็จะทำให้มีของกินของใช้หรือเงินทองเหลือและล้น จากคนจนไม่ค่อยจะมีกิน กลายเป็นคนพอมีพอกิน ไม่มีหนี้สินแต่มีทุนพอเพียงที่จะพึ่งตนเอง สามารถยืนบนขาของตนเองได้ และในไม่ช้าถ้ายังมีคุณธรรมดังกล่าวอยู่ก็จะเลื่อนฐานะตนเองให้สูงขึ้นได้ ส่วนคนที่พอมีพอกินอยู่แล้วถ้ายังขยัน ประหยัด อดออม ถ่อมตน อดทน อดกลั้น ซื่อสัตย์สุจริต และพึ่งตนเอง ไม่ทำตัวฟุ้งเฟ้อเกินตัว ก็จะมีโภคทรัพย์เหลือและล้น จนมีฐานะเป็นคนชั้นกลาง สามารถใช้ชีวิตได้พอเหมาะพอดี และเพียงพอกับฐานะของตน จนเป็นที่พึ่งของคนอื่นหรือสังคม หรือเป็นผู้ที่ฐานะร่ำรวยเสมอหน้าคนอื่นได้ในภายภาคหน้า

ส่วนคนที่เป็นเศรษฐีมีฐานะร่ำรวยอยู่แล้ว เพราะทำงานหรือมีมรดกตกทอด ถ้ารักษาคุณธรรมไว้ ด้วยการสอนลูกสอนหลานและตนเองให้ซื่อสัตย์สุจริต ขยัน ประหยัด อดออม ถ่อมตน อดทน อดกลั้น ไม่โลภ ไม่โกงเขา ก็จะมีทรัพย์สินเหลือและล้น จนได้ชื่อว่าเป็นผู้มีบารมี มีทรัพย์สินมากมาย พอที่จะแผ่เมตตาบารมี แบ่งปันให้ผู้อื่นที่เดือดร้อน หรือแก่ประเทศชาติได้ดังในโครงสร้างสรุปดังนี้

                                                                             นรก

ดังนั้น ความพอเพียง หรือเศรษฐกิจพอเพียงจึงเหมาะหรือใช้ได้กับทุกฝ่าย ไม่ว่าคนจน คนชั้นกลาง หรือคนชั้นสูง เพียงแต่ให้ทุกคนรู้จักทำงานด้วยความขยัน ประหยัด อดออม ถ่อมตน

ซื่อสัตย์ สุจริต และพึ่งตนเอง เพื่อให้คนจนไม่เป็นภาระของผู้อื่นด้วยการเลิกใช้จ่ายเกินตัว เลิกสูบบุหรี่ เลิกเหล้า เลิกการพนัน เลิกเที่ยวเตร่ เลิกเกียจคร้าน ฯลฯ คนชั้นกลาง หรือคนรวย ข้าราชการ ฯลฯ ไม่โลภ
ไม่เห็นแก่ตัว ไม่ฉ้อราษฎร์บังหลวง หรือทำลายชาติบ้านเมืองด้วยวิธีต่างๆ อย่างเช่นทุกวันนี้ด้วยความโลภนั่นเอง

ความพอเพียงเป็นทฤษฎีองค์รวม

ความจริงแล้วความพอเพียงก็คือ ทฤษฎีองค์รวมหรือบูรณาการนั่นเอง เพราะนอกจากจะใช้ได้กับทุกคน ทุกฐานะ และทุกอาชีพแล้ว ยังใช้ได้กับทุกภารกิจชีวิต หรือทั้งร่างกายและจิตใจ เช่น การทำงาน ถ้าทำหนักเกินไปเพราะอดทน อดกลั้นเกินไป ไม่พอเพียง หรือพอดี พอเหมาะ ก็จะให้ร่างกายทรุดโทรม ป่วยไข้ได้ง่าย จิตใจก็เครียด วิตกกังวล กลายเป็นโรคจิตประสาท แล้วเป็นโรคทางกาย เช่น โรคหัวใจ ความดันสูง และโรคอื่นๆ อีกมากมายได้ แม้แต่การกิน การนอน การมีเพศสัมพันธ์ การสังสรรค์เฮฮา การเล่นกีฬา การศึกษาเล่าเรียน การดูโทรทัศน์

การอบรมเลี้ยงดูบุตรหลาน ฯลฯ ถ้ามาก (ตึง) เกินไป หรือน้อย (หย่อน) เกินไป ก็จะทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกาย จิตใจของตนเองและของ ผู้อื่นได้ ดังนั้นภารกิจชีวิตที่ดีจึงต้องสมดุล พอดีเดินทางสายกลาง ไม่มากไม่น้อยเกินไปหรือรู้จัก ความพอเพียงนั่นเอง

สรุป

จากที่กล่าวมาใช่ว่าผู้เขียนอวดรู้ หรือคิดจะสอนใคร แต่เป็นเพราะความห่วงใยว่าจะมีผู้นำพระราชดำรัสของในหลวงฯ ของเราที่แสนดีงามและเป็นประโยชน์ต่อทวยราษฎร์ ซึ่งสอดคล้องกับหลักพุทธธรรมไปทำให้คนไทยแตกแยก เป็นที่ไม่สบายใจของคนรวยที่สร้างเนื้อสร้างตัวมาด้วยความซื่อสัตย์สุจริต สามารถทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศชาติให้เจริญมั่นคง ทัดเทียมนานาอารยะประเทศได้ และที่สำคัญที่สุดคือ ไม่ทำให้ระคายเคืองใต้เบื้องพระยุคลบาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรา ผู้ทรงปรารถนาให้คนไทยทุกคนรู้รักสามัคคี และมีชีวิตที่ “พอเพียง” ไม่ฟุ้งเฟ้อ ทุจริต คดโกง และอิจฉาริษยากันอย่างเช่นทุกวันนี้


 Print   
 บทความที่เกี่ยวข้อง Minimize

 Print   
Copyright © 2008 by สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ