Back Office : | Login  

ขณะนี้คุณอยู่ที่หน้า : ผลงานวุฒิอาสา > องค์ความรู้
 บทความของวุฒิอาสา Minimize

Tuesday, June 17, 2008  
 พุทธวิธีชะลอความตาย
:: 2036 Views :: ด้านการแพทย์และสาธารณสุข

 โดย... นางนัฏกร  อาชะวะบูล

นับแต่วินาทีแรกที่ชีวิตอุบัติขึ้น ชีวิตนั้นก็เริ่มเดินทางไปสู่ความตายอยู่ทุก ๆ ขณะจิต  เพราะเมื่อมีความเกิด ก็ย่อมต้องมีความตายเป็นของคู่กัน แตกต่างกันก็เพียงว่า จะตายช้าหรือตายเร็ว หรือจะตายอย่างไรเท่านั้น เรามัวแต่กลัวความตาย แต่ไม่กลัวความเกิด ทั้ง ๆ ที่ความเกิดนั้นล้วนแล้วแต่ทุกข์ทั้งสิ้น ถ้าสิ้นสุดความเกิด ทุกข์ก็ย่อมสิ้นสุด

            พระพุทธศาสนาสอนให้เราปฏิบัติเพื่อหนีพ้นจากความคิด แต่ถ้าเรายังต้องเกิดอยู่ เราก็ไม่สามารถหนีพ้นความตายได้ทุกชีวิตจะต้องได้เผชิญกับมันอย่างแน่นอน ฉะนั้นเราจึงควรกลัวความเกิด ไม่ควรกลัวความตาย เพราะถ้าเราไม่เกิด เราก็ไม่ต้องตาย

            แต่ในเมื่อเราได้เกิดขึ้นมาแล้ว พระพุทธศาสนาก็ยังมีวิธีชะลอความตายให้ช้าลง เพื่อช่วยให้เวลาแห่งชีวิตได้ยืนยาวออกไปอีก และยังเป็นหลักในการเตรียมตัวตายได้อีกด้วย พุทธวิธีชะลอความตายมีดังนี้

            1.  เตรียมใจไว้ล่วงหน้า ยอมรับความจริงว่า ทุกชีวิตจะต้องพบกับความตายแน่นอน อันเป็นของธรรมดาเตรียมตัวเตรียมใจไว้เผชิญกับมันด้วยดุษณี

            2.  มองโลกในแง่ดีเสมอ เห็นใจและให้อภัยในความผิดพลาดของผู้อื่น ไม่ให้ร้ายใคร และไม่คอยจับผิดใคร

            3.  หลีกเลี่ยงสิ่งที่จะก่อให้เกิดปัญหาทั้งปวง หลีกเลี่ยงจากการคลุกคลีกับหมู่คณะ จะช่วยให้ปัญหาต่าง ๆ น้อยลง เพราะการคลุกคลีกับหมู่คณะมาก ปัญหาย่อมจะมาก หลีกเลี่ยงจากการกระทำกิจการใหญ่โตที่เกินความสามารถของตนจะบริหารได้ และหลีกเลี่ยงจากการก่อหนี้อันไม่จำเป็น มีน้อยใช้น้อย พอใจกับสิ่งที่ตนมีอยู่อย่างพอเหมาะพอสมกับอัตภาพ

            4.  ปล่อยวางภาระต่าง ๆ ด้วยการแบ่งปันหน้าที่การงานให้ผู้อื่นดูแลรับผิดชอบบ้าง ไม่แบกภาระเอาไว้แต่เพียงคนเดียว และยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น

            5.  ใช้ชีวิตด้วยการให้ ด้วยการบริจาค ช่วยเหลือเอื้อเฟื้อจุนเจือ ผู้อื่นที่ด้อยโอกาสและด้อยฐานะกว่า และแผ่เมตตาให้เป็นนิตย์

            6.  ใช้ชีวิตอย่างประหยัด ด้วยการ

    • กินอาหารให้ถูกสัดส่วน กินอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย อาหารที่ย่อยง่าย ไม่กินจุกจิกพร่ำเพรื่อ กินให้เป็นเวลา และดื่มน้ำมาก ๆ เสมอ ๆ
    • ละเว้นเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ หรือสิ่งเสพติด 
    • ละเว้นจากการเที่ยวเตร่นอกบ้านโดยไม่จำเป็น มิใช่ว่าเถิดเทิงที่ไหน ไปที่นั่น ฯลฯ
    • นอนแต่หัวค่ำ ตื่นแต่เช้า ไม่นอนดึกโดยไม่จำเป็น
    • รักษาสุขภาพของร่างกาย ด้วยการหลีกเลี่ยงจากการติดโรค
    • ทำตัวให้เป็นคนอยู่ง่าย กินง่าย ไม่เรื่องมาก จู้จี้จุกจิก พิรี้พิไร ทำแต่สิ่งที่ง่าย ๆ ไม่ทำเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยาก ทำอะไร ๆ ด้วยตนเองได้ โดยไม่ต้องคอยพึ่งพาผู้อื่น
    • ทำทุกอย่างเพื่อแก้ทุกข์ มิใช่ทำเพื่อแก้อยาก เช่น กินเมื่อหิว ไม่ใช่กินเมื่ออยาก
    • รู้จักประมาณตน ในด้าน 

- การกิน กินแต่พอประมาณ กินเพื่อให้ชีวิตดำรงอยู่ มิใช่อยู่เพื่อกิน
- เพศสัมพันธ์
- การใช้จ่ายทรัพย์

    • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ด้วยการเดิน ด้วยการทำงานในบ้านอันเป็นกิจวัตร
    • ไม่ปล่อยใจให้ฟุ้งไปกับอดีตที่ไม่อาจจะกลับคืนมาได้อีก ไม่ฟุ้งไปในอนาคตที่ยังมาไม่ถึง เพ่งเล็งอยู่เฉพาะปัจจุบัน และทำปัจจุบันให้ดีที่สุด
    • เจริญสติ อยู่เสมอ เพราะสติคือหัวใจสำคัญของพระพุทธศาสนาให้มีสติควบคุมการกระทำกิจการต่าง ๆ ทุก ๆ อิริยาบถ ทั้งทางกาย วาจา และใจ เพื่อการมีชีวิตอยู่อย่างยืนยาวด้วยความไม่ประมาท 

          เมื่อสามารถควบคุม ปลดเปลื้อง ปล่อยวางภาระต่าง ๆ ทั้งทางกายและใจให้น้อยลงได้ ก็จะเป็นผู้ไม่เครียด ไม่คิดมาก ไม่โลภมาก ไม่โกรธ และไม่หลง จิตใจจะสบาย สุขและปีติก็เกิด ร่างกายก็จะไม่เคร่งเครียด เหน็ดเหนื่อยตรากตรำ ยังผลให้เสื่อมช้าลงกว่าที่ควรจะเป็น ชีวิตก็จะยืนยาวออกไปอีก

            เริ่มต้นเสียแต่วันนี้ เดี๋ยวนี้ และเวลานี้ หากมัวรอวันพรุ่งนี้ก็อาจจะสายเกินไปเสียแล้ว เพราะกาลเวลาย่อมจะกลืนกินตัวของมันเองอยู่ตลอดเวลา และไม่เคยรอคอยใคร


 Print   
 บทความที่เกี่ยวข้อง Minimize

 Print   
Copyright © 2008 by สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ