เชื่อมเครือข่าย ร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาวุฒิอาสาฯ ระดับกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน

เมื่อวันที่ 15-16 พฤษภาคม 2568 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ร่วมกับมูลนิธิพัฒนาไท (มพท.) เปิดเวที “เชื่อมเครือข่าย ร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาวุฒิอาสาธนาคารสมอง ระดับ
กลุ่มจังหวัด”
เพื่อส่งเสริมการรวมกลุ่มการทำงานและสร้างเครือข่ายการทำงานในระดับพื้นที่ของวุฒิอาสาฯ
ในการเป็นพลังร่วมพัฒนาประเทศ ตามเป้าหมายการพัฒนาของกลุ่มจังหวัด โดยเปิดเวทีระดมความคิดเห็นประเด็น
การขับเคลื่อนงานของวุฒิอาสาฯ กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ในวันที่ 15 พฤษภาคม 2568 ณ โรงแรมบรรจงบุรี จังหวัดสุราษฎร์ธานี และกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ในวันที่ 16 พฤษภาคม 2568 ณ โรงแรมเรือรัษฎา จังหวัดตรัง
ผู้ร่วมประชุมประกอบด้วย วุฒิอาสาฯ จากกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย (สุราษฎร์ธานี และชุมพร) วุฒิอาสาฯ
จากกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน (กระบี่ ตรัง พังงา ภูก็ต ระนอง และสตูล) ผู้บริหาร สศช. กรรมการมูลนิธิพัฒนาไท เจ้าหน้าที่ สศช. และ มพท. โดยภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยมีผู้เข้าร่วมประมาณ 130 คน และภาคใต้ฝั่งอันดามัน ประมาณ 90 คน

     ในการนี้ นางสาวดวงกมล  วิมลกิจ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์การพัฒนาความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางสังคม (กสท.) สศช. ได้นำเสนอเป้าหมายและแนวทางการพัฒนาภาคใต้ สถานการณ์การพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัด สถานการณ์ด้านประชากรที่สำคัญ การพัฒนาคนตามดัชนีความก้าวหน้าของคน (HAI) ใน 8 มิติ อาทิ มิติด้านการศึกษา มิติด้านสุขภาพ และมิติด้านชีวิตการทำงาน พร้อมทั้งปัญหาและความท้าทายที่สำคัญ ตลอดจนการขับเคลื่อนงานของวุฒิอาสาฯ โดยกล่าวถึงเป้าหมายและแนวทางพัฒนาภาคใต้ (พ.ศ. 2566-2570) ที่ให้ความสำคัญสู่การเป็น “แหล่งท่องเที่ยวและบริการที่มีคุณภาพ แหล่งผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยและมูลค่าสูง เชื่อมโยงเศรษฐกิจระหว่างภูมิภาค” ที่มีแนวทางการพัฒนา PEARLS ประกอบด้วย การพัฒนาและยกระดับการท่องเที่ยวและบริการ รวมทั้งธุรกิจต่อเนื่องให้มีมาตรฐานและมูลค่าสูง พัฒนาและยกระดับอุตสาหกรรมการแปรรูปสินค้าเกษตรหลักด้วยนวัตกรรม ส่งเสริมการผลิตและการแปรรูปสินค้าเกษตรและปศุสัตว์หลักของภาค อนุรักษ์ ฟื้นฟู และบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ พัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษฝั่งอันดามันและด่านพรมแดน รวมทั้งพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ ให้เป็นประตูการค้าการลงทุนและพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ของภาค และเสริมสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

     สำหรับเป้าหมายการพัฒนาตามแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย (พ.ศ. 2566-2570) มุ่งเน้น “พัฒนาการท่องเที่ยว การเกษตร อุตสาหกรรมชีวภาพ สู่ผลิตภัณฑ์และบริการที่มีคุณภาพและมูลค่าสูงอย่างยั่งยืน” โดยปัจจุบันมีสถานการณ์การพัฒนาที่สำคัญ คือ การเปลี่ยนแปลงสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ มีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุอยู่ที่ร้อยละ 19.9 โดยจังหวัดที่มีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุสูงสุด คือ จังหวัดพัทลุง ร้อยละ 22.2รองลงมา คือ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ร้อยละ 20.8 และจังหวัดสงขลา ร้อยละ 18.7 ส่วนสถานการณ์การพัฒนาคน มีค่า HAI สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ อย่างไรก็ตาม มิติด้านการคมนาคมและการสื่อสารมีความก้าวหน้ามากที่สุด ขณะที่มิติด้านชีวิตครอบครัวและชุมชน ยังเป็นมิติที่เป็นจุดอ่อน ซึ่งกลุ่มจังหวัดนี้มีปัญหาและความท้าทายสำคัญ ประกอบด้วย ด้านประชากร การเป็นสังคมสูงวัยและเด็กเกิดใหม่ลดลงต่อเนื่องในทุกจังหวัด และแนวโน้มอัตรา การพึ่งพิงสูงขึ้น ซึ่งผู้สูงอายุจำนวนมากยังต้องทำงาน และเป็นกลุ่มเปราะบาง ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การเข้าถึงการศึกษายังเป็นช่องว่างสำคัญ ซึ่งปีการศึกษาเฉลี่ยและอัตราการเรียนต่อยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยประเทศ และการแพร่ระบาดของยาเสพติดยังรุนแรงในหลายพื้นที่ ด้านเศรษฐกิจ ศักยภาพในการรองรับการท่องเที่ยวยังไม่เต็มประสิทธิภาพ ทั้งท่าเรือ สาธารณูปโภคพื้นฐาน และแรงงานด้านการท่องเที่ยว และมูลค่าผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ อาทิ ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ซึ่งเกษตรกรยังขาดความรู้ในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการผลิต รวมทั้งด้านสิ่งแวดล้อม การกัดเซาะชายฝั่งทะเลเพิ่มขึ้น จากการขยายตัวของกิจกรรมการใช้ประโยชน์พื้นที่ชายฝั่งทะเล และการบริหารจัดการขยะในพื้นที่ยังไม่มีประสิทธิภาพ โดยวุฒิอาสาฯ ในพื้นที่ (สุราษฎร์ธานี และชุมพร) มีการดำเนินงานที่สำคัญ ได้แก่ การอบรมและให้องค์ความรู้ด้านต่าง ๆ เช่น การดูแลสุขภาพผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียง ศิลปวัฒนธรรมพื้นถิ่น การสร้างอาชีพให้กลุ่มผู้ด้อยโอกาส เป็นต้น การใช้ Quantum Technology และภูมิปัญญา เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศ ที่ปรึกษากลุ่มส่งเสริมการเกษตรตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง

     จากกระบวนการระดมความคิดเห็นกลุ่มย่อย ได้ประเด็นการขับเคลื่อนที่สำคัญ ดังนี้
     1) การส่งเสริมสุขภาวะอนามัยอย่างยั่งยืน มีเป้าหมายสำคัญเพื่อดูแลและเสริมสร้างสุขภาพกาย-จิตใจของผู้สูงอายุในตำบลโดยมีโรงเรียน/ชมรมผู้สูงอายุในจังหวัดสุราษฎร์ธานีและชุมพร เป็นเจ้าภาพนำร่อง ด้วยการระดมความเห็น จัดทำและนำเสนอโครงการ เพื่อขอรับงบประมาณจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมประสานหน่วยงานภาคีในพื้นที่ในการให้ความรู้และดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ
     2) การสร้างองค์ความรู้และปลูกฝังจิตสำนึกในการอนุรักษ์วัฒนธรรม
อัตลักษณ์ และภูมิปัญญาท้องถิ่น
โดยส่งเสริมการสร้างองค์ความรู้ ปลูกฝังจิตสำนึก และถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นใน 3 เรื่อง ได้แก่ เพลงกล่อมเด็ก/เพลงทอก ศิลปะการป้องกันตัวด้วยมือเปล่า (มวยไทย) และสมุนไพรไทย ทั้งนี้ ดำเนินการนำร่องที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี จัดกิจกรรมเชื่อมโยงภูมิปัญญาแบบบูรณาการผ่านประเพณีชักพระ
     3) การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร โดยจัดทำข้อมูลพื้นที่เกษตรที่จะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวของเครือข่าย วุฒิอาสาฯ เชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงเกษตรในพื้นที่นำร่อง สวนเกษตรพอเพียง และสวนเกษตรอินทรีย์ พร้อมทั้งจัดทำสื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผ่านเครือข่ายวุฒิอาสาฯ จังหวัดต่าง ๆ เพื่อสร้างการรับรู้แหล่งท่องเที่ยวและแหล่งผลิตสินค้าเกษตร รวมทั้งกระตุ้นการท่องเที่ยวในพื้นที่สู่การสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรและชุมชน
     4) การบริหารจัดการขยะในพื้นที่ชุมชน โดยมุ่งสร้างนักเรียนต้นแบบและปลูกฝังจิตสำนึกการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมโดยชุมชน เริ่มต้นจากการกำหนดนโยบายหลักและส่งเสริมเครือข่ายเยาวชนจิตอาสาในสถานศึกษา มีโรงเรียนศรียาภัย จังหวัดชุมพรเป็นพื้นที่นำร่อง ส่วนระดับชุมชน การบังคับใช้กฎหมายจัดการขยะอย่างเคร่งครัดขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พร้อมส่งเสริมการนำขยะมาใช้ประโยชน์ โดยวุฒิอาสาฯ เป็นผู้ประสานงานหลักและแกนนำในการขับเคลื่อนงาน

     ส่วนเป้าหมายการพัฒนาตามแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน (พ.ศ. 2566-2570) มุ่งสู่การเป็น “ศูนย์กลางการท่องเที่ยวเน้นคุณค่าและเกษตรแนวใหม่ เพื่อสังคมแห่งความสุข และวิถีชีวิตที่ยั่งยืน” ปัจจุบัน มีสถานการณ์การพัฒนาที่สำคัญ คือ การเปลี่ยนแปลงสู่สังคมสูงวัย มีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุร้อยละ 17.3 จังหวัดพังงามีสัดส่วนผู้สูงอายุมากที่สุด ร้อยละ 20.6 จังหวัดภูเก็ตมีสัดส่วนผู้สูงอายุต่ำสุด ร้อยละ 14.4 โดยจังหวัดพังงาและตรังมีอัตราการตายสูงกว่าอัตราการเกิด สำหรับสถานการณ์การพัฒนาคน มีค่า HAI ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ พบว่า มิติที่มีความก้าวหน้ามากที่สุด คือ ด้านการคมนาคมและการสื่อสาร ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ จุดอ่อน ที่สำคัญ คือ ด้านการศึกษา จำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยของเด็กอายุ 15 ปีขึ้นไป ที่ลดลง ส่วนด้านเศรษฐกิจและชีวิตการงาน รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ และสัดส่วนคนจนลดลงแต่ยังมีสัดส่วนสูงกว่าระดับประเทศ ทั้งนี้ ปัญหาและความท้าทายสำคัญของกลุ่มจังหวัดนี้ ได้แก่
     ด้านประชากร เป็นสังคมสูงวัยและเด็กเกิดใหม่ลดลงต่อเนื่องในทุกจังหวัด แนวโน้มอัตราพึ่งพิงสูงขึ้น ซึ่งผู้สูงอายุจำนวนมากยังต้องทำงาน
     ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ แรงงานในภาคการท่องเที่ยวและการเกษตรขาดทักษะที่จำเป็นในการทำงาน และมีการแพร่ระบาดของยาเสพติดในหลายพื้นที่
     ด้านเศรษฐกิจและรายได้ พืชเศรษฐกิจที่สำคัญยังมีคุณภาพต่ำและขาดขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับสากล และการท่องเที่ยวเมืองรองยังขาดการสนับสนุนอย่างเป็นระบบ
     ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การจัดการขยะมูลฝอยยังไม่มีประสิทธิภาพ การท่องเที่ยวมากเกินไปส่งผลกระทบต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสถานการณ์อุทกภัยมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น โดยวุฒิอาสาฯ ในพื้นที่มีการดำเนินงานที่สำคัญ ได้แก่ การให้องค์ความรู้ด้านต่าง ๆ เช่น ด้านการเกษตร เศรษฐกิจพอเพียง สาธารณสุข การแพทย์แผนไทย การเพ้นท์ผ้าปาเต๊ะ เป็นต้น เป็นผู้ประสานงานสมัชชาสุขภาพและการแก้ปัญหาน้ำในคลองพังงาเน่าเสีย

     สำหรับผลการระดมประเด็นการขับเคลื่อนที่สำคัญ มีดังนี้
     1) การพัฒนาผู้สูงอายุให้มีทักษะความพร้อมรองรับสังคมสูงวัย โดยมุ่งพัฒนาผู้สูงอายุให้มีองค์ความรู้และทักษะที่จำเป็นในการดำรงชีวิตในสังคมสูงวัย ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสู่สุขภาวะที่ดี ตามหลัก 3 อ. ได้แก่ อาหาร ออกกำลังกาย และอารมณ์ รวมทั้งเห็นคุณค่าในตนเอง
ไม่รู้สึกโดดเดี่ยว
     2) การสนับสนุนการพัฒนาพืชเศรษฐกิจ (ปาล์ม) ตลอดห่วงโซ่ ในพื้นที่ จ. ตรัง โดยดำเนินการตั้งแต่ต้นน้ำ คือ ให้ความรู้เกษตรกรในการตรวจสอบพันธุ์ปาล์ม กลางน้ำ คือ ส่งเสริมการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากปาล์ม และปลายน้ำ คือ ส่งเสริมการรวมกลุ่มเพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรอง ด้วยการจัดเวทีหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อยกระดับการพัฒนาปาล์มน้ำมันของประเทศไทย 
     3) การจัดการมลพิษที่เกิดจากครัวเรือนและชุมชน เป็นการนำความรู้ไปดำเนินการแยกขยะ/กำจัดมลพิษ และใช้ประโยชน์จากขยะที่เกิดจากวิถีชีวิตประจำวันของคนในท้องถิ่นให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยศึกษาเรียนรู้จากพื้นที่ต้นแบบที่มีการจัดการขยะแบบครบวงจร ผ่านกระบวนการสร้างทีมเฝ้าระวัง สร้างความตระหนักรู้ด้านกฎหมาย และจัดตั้งกลุ่มในชุมชนหรือคณะทำงานเฉพาะด้าน รวมทั้งทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ เพื่อขยายผลสู่พื้นที่ในจังหวัดภาคใต้อันดามัน

การแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงาน

     นายครรชิต เข็มเฉลิม กรรมการ มพท. และวุฒิอาสาฯ จังหวัดฉะเชิงเทรา ถึงกระบวนการการทำงานแบบภาคีเครือข่ายของวุฒิอาสาฯ จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยทำงานในรูปแบบของภาคประชาสังคมที่มีการเชื่อมโยงกับภาคีเครือข่ายอื่น ๆ ในพื้นที่ ด้วยการจัดประชุมระดับจังหวัด/กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก ที่มีวุฒิอาสาฯ และเครือข่ายทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำยุทธศาสตร์ร่วมของจังหวัดและภาคตะวันออก ที่มีการวิเคราะห์ กำหนดประเด็นและเป้าหมายการพัฒนาร่วมกัน ภายใต้ประเด็นความเชี่ยวชาญของตนเองที่หลากหลาย รวมทั้งสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน จากนั้นขยายผลไปยังจังหวัดอื่น ๆ บนฐานการใช้ทรัพยากรร่วมกัน โดยเริ่มจากกระบวนการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน SDG Lab ที่ทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ผ่านแพลตฟอร์มตะวันออกฟอรั่ม ซึ่งเป็นการทำงานเชิงยุทธศาสตร์จากระดับจังหวัดและเชื่อมโยงกันเป็นระดับภาค อีกทั้งควรสรรหาคนรุ่นใหม่ที่ทำงานจิตอาสาและมีพลังในการขับเคลื่อนงานมาเป็นวุฒิอาสาฯ เพิ่มขึ้น เพื่อส่งต่องานของวุฒิอาสาฯ เดิม

     นางวณี  ปิ่นประทีป กรรมการ มพท. ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า การทำงานของวุฒิอาสาฯ ควรมีการเชื่อมโยงกันทั้งภายในและระหว่างจังหวัด และเชิญชวนผู้ที่มีความรู้ความสามารถและมีจิตอาสาที่เป็นคนรุ่นใหม่และมีพลังในการขับเคลื่อนงาน มาเป็นวุฒิอาสาฯ เพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่ ตลอดจนพัฒนาสังคม ชุมชน และจังหวัดต่อไป

กิจกรรม วันที่ 15 พฤษภาคม 2568 ภาคใต้อ่าวไทย

กิจกรรม วันที่ 16 พฤษภาคม 2568 ภาคใต้อันดามัน