สศช. ร่วมกับ มพท. เปิดเวที  “เชื่อมเครือข่าย ร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาวุฒิอาสาธนาคารสมองระดับกลุ่มจังหวัดภาคเหนือ” ตอนบน 1 และ 2

ระหว่างวันที่ 4 และ 5 เมษายน 2567 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ร่วมกับมูลนิธิพัฒนาไท (มพท.) เปิดเวที “เชื่อมเครือข่าย ร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาวุฒิอาสาธนาคารสมอง ระดับกลุ่มจังหวัด”

เพื่อส่งเสริมการรวมกลุ่มการทำงานและสร้างเครือข่ายการทำงานในระดับพื้นที่ของวุฒิอาสาฯ ในการเป็นพลังร่วมพัฒนาประเทศ ตามเป้าหมายการพัฒนาของกลุ่มจังหวัด โดยเปิดเวทีระดมความคิดเห็นประเด็นการขับเคลื่อนงานของวุฒิอาสาฯ ของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ในวันที่ 4 เมษายน 2567 ณ โรงแรมดิเอ็มเพรส เชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ และกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ในวันที่ 5 เมษายน 2567 ณ โรงแรมเวียงอินทร์ จังหวัดเชียงราย ผู้ร่วมประชุมประกอบด้วย วุฒิอาสาฯ จากกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 (เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน) วุฒิอาสาฯ จากกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 (เชียงราย แพร่ น่าน พะเยา) ผู้บริหาร สศช.กรรมการมูลนิธิพัฒนาไท เจ้าหน้าที่ สศช. และ มพท. จำนวนประมาณ 80 คน/เวที

นางสาววรวรรณ พลิคามิน รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาไท ได้นำเสนอเป้าหมายและแนวทางการพัฒนาภาคเหนือ สถานการณ์การพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัด สถานการณ์ด้านประชากรที่สำคัญ การพัฒนาคนตามดัชนีความก้าวหน้าของคน (HAI) ใน 8 มิติ อาทิ มิติด้านการศึกษา มิติด้านสุขภาพ และมิติด้านชีวิตการทำงาน พร้อมทั้งปัญหาและความท้าทายที่สำคัญ ตลอดจนการขับเคลื่อนงานของวุฒิอาสาฯ โดยกล่าวว่าเป้าหมายและแนวทางพัฒนาภาคเหนือ (พ.ศ. 2566-2570) ได้ให้ความสำคัญสู่การเป็น “ฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ” โดยมีแนวทางการพัฒนา อาทิ NEC – Creative LANNA การยกระดับการท่องเที่ยวและบริการที่มีศักยภาพ การพัฒนาการผลิตตามระบบเกษตรกรรมยั่งยืน การเสริมศักยภาพของเมือง พื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน และระบบโครงสร้างพื้นฐานโลจิสติกส์ การพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิต การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

    โดยมี เป้าหมายการพัฒนาตามแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 (พ.ศ. 2566-2570) จะมุ่งเน้น “การพัฒนาพื้นที่บนฐานวัฒนธรรมสร้างสรรค์ สู่เศรษฐกิจมูลค่าสูงอย่างทั่วถึง”

    เป้าหมายการพัฒนาตามแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 (พ.ศ. 2566-2570) เน้น “การท่องเที่ยวบนพื้นฐานวัฒนธรรมร่วมสมัย ยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตร สิ่งแวดล้อมยั่งยืน สู่เศรษฐกิจมั่นคง”

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *