ความเป็นมา มพท.

“มูลนิธิพัฒนาไท” ย่อว่า มพท. เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Pattana Thai Foundation ย่อว่า PTF เครื่องหมายของมูลนิธิ คือรูปคนและแผนที่ประเทศไทย เป็นศูนย์กลางอยู่ในวงกลม ๒ วงมีลูกศรชี้เข้าหาในมุมทแยง ข้างบนเขียนว่า มูลนิธิพัฒนาไท ข้างล่างเขียนว่า Pattana Thai Foundation มีรูปธงชาติ ทั้งสองข้าง
คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2539 ให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จัดตั้งมูลนิธิพัฒนาไทขึ้น เพื่อเป็นศูนย์กลางในการส่งเสริมการวางแผนพัฒนาคนและสังคมในลักษณะที่เป็นองค์รวมแบบบูรณาการรวมทั้งสนับสนุนให้การพัฒนาประเทศได้รับการแปลงแผนออกสู่ภาคปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จึงได้ดำเนินการขออนุญาตจัดตั้งมูลนิธิพัฒนาไท ต่อสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ จดทะเบียนนิติบุคคลจากกระทรวงมหาดไทย และได้รับอนุมัติเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2540 มูลนิธิพัฒนาไทได้รับการประกาศกำหนดให้เป็นองค์กรหรือสถานสาธารณกุศล ลำดับที่ 329 ตามประกาศกระทรวงการคลังเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2541

วัตถุประสงค์
1) ศึกษา วิจัย วางแผน และสนับสนุนการพัฒนาคน ชุมชน และสังคม ในลักษณะองค์รวมแบบบูรณาการ เพื่อสนับสนุนแนวคิดและทิศทางของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่เน้นให้คนเป็นศูนย์กลางหรือจุดหมายหลักของการพัฒนา และสนับสนุนการประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติในทุกระดับ
2) สนับสนุนและส่งเสริมการศึกษา วิเคราะห์ วิจัย ฝึกอบรม สัมมนา ประชุมเชิงปฏิบัติการ เผยแพร่และประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสาร องค์ความรู้เกี่ยวกับ การพัฒนาประเทศ ความร่วมมือกับต่างประเทศทุกสาขา และการประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่ การปฏิบัติในทุกระดับ
3) สนับสนุนและส่งเสริมการวางแผน การแปลงแผนสู่การปฏิบัติ การกระจายความเจริญสู่ภูมิภาคและท้องถิ่น การติดตามประเมินผล และการประยุกต์ ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติในทุกระดับ

4) สนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาระบบข้อมูล เทคโนโลยีสารสนเทศ และคอมพิวเตอร์ เพื่อการวางแผน ทุกสาขา รวมทั้งการประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติในทุกระดับ
5) จัดกิจกรรม ให้คำปรึกษา แนะนำ ฝึกอบรม วิจัย และกิจการอื่นที่เกี่ยวข้องและต่อเนื่องกับการประกอบการ ตามข้อ 1 – ข้อ 4
6) เป็นศูนย์กลางในการสนับสนุนและให้ทุน ในการพัฒนาและดำเนินงานของสถาบันวิจัยและพัฒนาประเทศตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ขอรับการสนับสนุนจากภาคราชการ รัฐวิสาหกิจ ธุรกิจเอกชน องค์กรประชาชน องค์การสาธารณประโยชน์ สถาบันทางศาสนา และองค์การระหว่างประเทศ ที่เกี่ยวกับการพัฒนาประเทศ การพัฒนาประชาสังคม โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน ให้เข้มแข็ง มีความร่วมมือกับต่างประเทศทุกสาขา และการประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่ การปฏิบัติในทุกระดับ