welcomeBrainbankยินดีต้อนรับทุกท่าน

Sustainable Development Goals Lab

SDG LAB

วิถีตะวันออก วิถีแห่งความสุข” (SDG Lab)

จังหวัดฉะเชิงเทรา

ภารกิจในการสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน พร้อมส่งเสริมสนับสนุน การทำงานแบบบูรณาการกับภาคีการพัฒนาทุกภาคส่วนให้ขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไปในทิศทางเดียวกัน จึงเห็นความสำคัญของการสร้างการเรียนรู้ร่วมกันอย่างบูรณาการ หนุนเสริมการทำงาน เป็นเครือข่ายกับภาคีการพัฒนา และการเชื่อมโยงบทบาทวุฒิอาสาธนาคารสมองกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่แบบมีส่วนร่วมในลักษณะบูรณาการทุกภาคส่วน เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาในพื้นที่ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาประเทศ และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
เป็นการขับเคลื่อนงานของวุฒิอาสาธนาคารสมอง 8 จังหวัด ภาคตะวันออก ในระยะแรกส่วนใหญ่เป็นการทำงานลักษณะปัจเจกบุคคลตามความรู้ความสามารถและความเชี่ยวชาญ ของแต่ละบุคคล มีการประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนแนวทางการดำเนินงานเป็นครั้งคราว ไม่มีการวางแผนการทำงานร่วมกัน และไม่มีการเชื่อมโยงเครือข่ายการทำงานกับภาคส่วนอื่นๆ อาทิ ภาครัฐ ภาคเอกชน เริ่มรวมกลุ่มและทำงานร่วมกับเครือข่ายในระดับจังหวัด ปี 2561 - 2560 โดย นายเจษฎา มิ่งสมร ประธานวุฒิอาสาธนาคารสมอง จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้เห็นถึงความสำคัญของการขับเคลื่อนงานร่วมกันจึงได้รวมตัวรวมกลุ่มวุฒิอาสาฯ จ.ฉะเชิงเทราในปี 2561 ได้เชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาของประเทศและวาระการพัฒนาของโลก คือ ยุทธศาสตร์ชาติและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) โดยร่วมกับ สศช. และ มพท. ขับเคลื่อนปฏิบัติการภาคีเครือข่าย “ฉะเชิงเทราเมืองยั่งยืน” (SDG Lab) ในการสร้างพื้นที่ต้นแบบความสำเร็จการนำใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็น “พื้นที่ปฏิบัติการแห่งการเรียนรู้ (SDGs Lab)”

บทบาทของวุฒิอาสา

1. ผู้ขับเคลื่อนประเด็นการพัฒนาในพื้นที่ ร่วมกับเครือข่ายการพัฒนาร่วมวิเคราะห์ข้อมูลสถานการณ์ปัญหาในพื้นที่ และร่วมนำเสนอประเด็นขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่ของตนเอง โดยเชื่อมประสานกับภาคส่วนต่าง ๆ หน่วยงานภาครัฐ ท้องถิ่น ภาควิชาการ องค์กรภาคประชาสังคมและเอกชน เพื่อนำไปสู่การกำหนดเป้าหมาย วางยุทธศาสตร์ในการแก้ไขปัญหา และดำเนินการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ มีอยู่ 2 แนวทาง คือ (1) การขับเคลื่อนเชิงประเด็น ได้แก่ ความมั่นคงทางอาหาร/เกษตรอินทรีย์ และการเพิ่มพื้นที่สีเขียว โดยบูรณาการขับเคลื่อนร่วมกันกับภาคีเครือข่ายการพัฒนาข้ามจังหวัด และ (2) การขับเคลื่อนเชิงพื้นที่ ได้แก่ การอนุรักษ์ลุ่มน้ำ การจัดการขยะ โดยดำเนินการผ่านกลไกเครือข่ายการพัฒนาในระดับพื้นที่ ถอดบทเรียนรูปธรรมความสำเร็จเพื่อค้นหาโมเดล และจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อขยายผลให้ครอบคลุมพื้นที่


2. ผู้ส่งเสริมและสนับสนุนพัฒนาประเทศ เป็นแกนประสานการขับเคลื่อนงาน วุฒิอาสาฯ เป็นผู้หนุนเสริม ให้คำปรึกษา ให้การสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมในการทำงานในระดับพื้นที่ที่มีการเชื่อมโยงกลไก

การทำงานของหน่วยงานภาครัฐ ท้องถิ่น ภาควิชาการ เครือข่ายการพัฒนาภาคประชาชนและภาคประชาสังคม ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 แผนพัฒนาภาคตะวันออก และแผนพัฒนาจังหวัด ที่นำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และประชาชนในพื้นที่สามารถดำเนินชีวิตอย่างมีคุณภาพ

การขับเคลื่อนการพัฒนาเชิงประเด็น

วุฒิอาสาธนาคารสมองจังหวัดฉะเชิงเทราได้ร่วมกัน กำหนดแนวทางและประเด็นการขับเคลื่อนงานพัฒนาฯ ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่เป็นเป้าหมายร่วมระหว่างยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาประเทศ ยุทธศาสตร์จังหวัด และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ในลักษณะบูรณาการทุกภาคส่วน สรุปผลการดำเนินงานได้ ดังนี้

1) โครงการ “แหล่งเรียนรู้ประวัติและผลงานของ พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)” วุฒิอาสาฯ ด้านการศึกษา และผู้บริหารโรงเรียนเทศบาล 2 พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ร่วมจัดทำโครงการแหล่งเรียนรู้ประวัติและผลงานของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) เพื่อให้โรงเรียนเทศบาล 2 พระยาศรีสุนทรโวหารฯ

เป็นแหล่งเรียนรู้ เก็บรวบรวมประวัติ และเผยแพร่ผลงานต่าง ๆ ของพระยาศรีสุนทรโวหาร ให้เป็นที่รู้จักต่อสาธารณะ พร้อมทั้งพัฒนาเป็นโรงเรียนตัวอย่างที่ใช้วิธีการสอนภาษาไทยของพระยาศรีสุนทรโวหาร ในการแก้ไขปัญหานักเรียนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ในทุกระดับชั้น

2) สวนวนเกษตร ผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม และวุฒิอาสาฯ ด้านการเกษตร (นายครรชิต เข็มเฉลิม) เป็นวิทยากรถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกร และประชาชนที่สนใจ เกี่ยวกับแนวทางการจัดการที่ดินและการเกษตร ที่ให้ความสำคัญกับการปลูกไม้ยืนต้นที่ใช้ประโยชน์ได้ ร่วมกับการปลูกพืชเพื่อเป็นอาหารและการเลี้ยงสัตว์ในลักษณะผสมผสานจนเป็นนิเวศการเกษตรที่เลียนแบบป่าธรรมชาติ กระบวนการเรียนรู้เพื่อพึ่งพาตนเอง และการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้งแจกจ่ายและขายพันธุ์ไม้ให้ผู้ที่เริ่มสนใจการปลูกต้นไม้

3) โครงการตะวันยิ้มสืบสานชุมชนตะวันออก หยั่งรากบางปะกง สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) ร่วมกับกลุ่มละครเพื่อการเรียนรู้บางเพลย์ และชุมชนอำเภอบ้านโพธิ์ ดำเนินโครงการตะวันยิ้มสืบสานชุมชนตะวันออก โดยทำการวิจัยเรื่อง “หยั่งรากบางปะกง” เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนลุ่มแม่น้ำบางปะกง และสร้างจิตสำนึกให้คนในท้องถิ่นเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ด้วยการสร้างความรู้ความเข้าใจกับเด็กและเยาวชน และชุมชน ในการอนุรักษ์แม่น้ำบางปะกง ศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิตของคนในชุมชน และพัฒนาทรัพยากรให้สามารถสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนได้อย่างยั่งยืน โดยมีนายสมนึก เมธาวศิน วุฒิอาสาฯ เป็นแกนนำในการประสานงานกับชุมชน

การสร้างกลุ่มและขยายฐานวุฒิอาสาฯ

ทำให้วุฒิอาสาฯ จังหวัดฉะเชิงเทรารวมตัวเป็นกลุ่มอย่างเข้มแข็ง และขับเคลื่อนการพัฒนาในระดับจังหวัดได้อย่างเป็นรูปธรรม วุฒิอาสาฯ เป็นที่รู้จักในพื้นที่ สามารถเชื่อมโยงความรู้ ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ไปขับเคลื่อนงานร่วมกับภาคีเครือข่ายในจังหวัดได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

การขับเคลื่อนการพัฒนาเชิงประเด็น มี 5 มิติ

มิติที่ 1 การพัฒนาคน (People) 1) การสนับสนุนงานพัฒนาระบบเพื่อรองรับสังคมสูงวัย เพื่อรองรับโครงสร้างประชากรจังหวัดฉะเชิงเทราที่มีผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น 2.เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 1 ยุติความยากจนทุกรูปแบบในทุกพื้นที่ เป้าหมายที่ 2 ยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหาร ยกระดับโภชนาการและส่งเสริมการเกษตรกรรมที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 3 การมีสุขภาวะในการดำรงชีวิต และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคนในทุกช่วงอายุ

2) การพัฒนาทักษะภาษาไทย ด้วยหลักการสอนของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) โดยดำเนินการร่วมกับโรงเรียนเทศบาล 2 พระยาศรีสุนทรโวหารฯ ด้วยการสอนภาษาไทยตามหลักการสอนของพระยาศรีสุนทรโวหาร เพื่อพัฒนาทักษะการอ่านและการเขียนให้แก่กลุ่มเด็กนักเรียนที่มีปัญหาอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ในทุกระดับชั้น รวมทั้งพัฒนาแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ เก็บรวบรวมประวัติ และเผยแพร่ผลงานต่าง ๆ ของพระยาศรีสุนทรโวหาร ให้เป็นที่รู้จักต่อสาธารณะ นับเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนายั่งยืน เป้าหมายที่ 4 การได้รับการศึกษาที่ได้คุณภาพอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง และส่งเสริมโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิตแก่ทุกคน

มิติที่ 2 ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (Planet)
1)การอนุรักษ์ลุ่มน้ำบางปะกง
วุฒิอาสาฯ ร่วมกับเครือข่าย ชุมชน และเยาวชน ส่งเสริมการเรียนรู้และการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิตของท้องถิ่น โดยดำเนินการ ดังนี้ (1) เชิญชวนประชาชนที่สนใจรวมกลุ่มจัดกิจกรรมส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญของพื้นที่ชุ่มน้ำ (2) จัดทำข้อมูลท้องถิ่นเพื่อการอนุรักษ์ “บ้านโพธิ์รักษ์บางปะกง” เพื่อใช้ประโยชน์ในการพัฒนาพื้นที่ต่อไปในอนาคต (3) จัดกิจกรรมรณรงค์อย่างต่อเนื่อง อาทิ กิจกรรมร่วมปั่นตะวันออกเพื่อหาเครือข่ายการขับเคลื่อนงานด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในภาคตะวันออก กิจกรรมพายเรือเก็บขยะ การจัดเสวนาเรื่องบางปะกงสายน้ำแห่งชีวิต เพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อนุรักษ์วิถีชีวิตดั่งเดิมให้สามารถดำเนินไปพร้อมกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจได้อย่างสมดุลและยั่งยืน และเป้าหมายที่ 6 น้ำและการสุขาภิบาลได้รับการจัดการอย่างยั่งยืน และมีสภาพพร้อมใช้สำหรับทุกคน เป้าหมายที่ 13 ดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้น และเป้าหมายที่ 14 อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเลและทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

2) โรงเรียนธนาคารต้นไม้ วุฒิอาสาฯ จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นแกนนำในการขับเคลื่อนการพัฒนาเพิ่มพื้นที่ป่าชุมชน เชื่อมโยงกับภาคีเครือข่ายการปลูกป่าและผู้นำชุมชนจาก 6 จังหวัด ภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา ระยอง สระแก้ว จันทบุรี ปราจีนบุรี และชลบุรี ทำกิจกรรมรณรงค์การเพิ่มพื้นที่ป่าร่วมกัน ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 15 พิทักษ์ บูรณะ และส่งเสริมการใช้ประโยชน์ที่ยั่งยืนของระบบนิเวศบนบก จัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน ต่อสู้กับการแปรสภาพเป็นทะเลทราย หยุดยั้งและฟื้นฟูความเสื่อมโทรมของที่ดิน และหยุดยั้งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ

มิติที่ 3 ความมั่งคั่งและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (Prosperity)
1) การท่องเที่ยวชุมชนวิถีตะวันออก “โครงการตะวันยิ้มสืบสานชุมชนตะวันออก หยั่งรากบางปะกง” วุฒิอาสาฯ จังหวัดฉะเชิงเทรา ร่วมกับมหาวิทยาลัยบูรพาและมหาวิทยาลัยมหิดล ขับเคลื่อนโครงการวิจัย “หยั่งรากบางปะกง” พื้นที่อำเภอบ้านโพธิ์ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนลุ่มแม่น้ำบางปะกง และสร้างจิตสำนึกให้คนในท้องถิ่นเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดยการสร้างความรู้ความเข้าใจกับเด็กและเยาวชน และชุมชน ในการอนุรักษ์แม่น้ำบางปะกง ศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิตของคนในชุมชน และพัฒนาทรัพยากรให้สามารถสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนได้อย่างยั่งยืน มีกิจกรรมศึกษาเรียนรู้ถึงรากเหง้าของถิ่นฐานที่อาศัย ซึ่งเด็กและเยาวชนมีความสนใจเรื่องการใช้ประโยชน์จากพืชท้องถิ่น “ต้นจาก”

และยังสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 8 ส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและทั่วถึงให้เป็นไปอย่างยั่งยืน ส่งเสริมศักยภาพการมีงานทำและการจ้างงานเต็มที่ และงานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน เป้าหมายที่ 10 ลดความไม่เสมอภาคภายในและระหว่างประเทศ และเป้าหมายที่ 11 ทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความครอบคลุม ปลอดภัย มีภูมิต้านทาน และยั่งยืน

2) การอนุรักษ์ฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิต และสิ่งแวดล้อม วุฒิอาสาฯ หนุนเสริมการทำงานของจังหวัดในการอนุรักษ์ฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิตคนแปดริ้ว การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม และการจัดการขยะ เพื่อสร้างจังหวัดฉะเชิงเทราให้เป็นเมืองน่าอยู่ มีสภาพแวดล้อมที่ดี และมีศิลปวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าในการสืบทอดไปยังลูกหลานต่อไป ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 11 ทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความปลอดภัย ทั่วถึง พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและยั่งยืน

มิติที่ 4 ด้านความยุติธรรมและความสันติสุข (Peace)
1) ธรรมนูญตำบลน่าอยู่ วุฒิอาสาฯ ร่วมกับจังหวัด สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และสภาองค์กรชุมชน ขับเคลื่อนการสร้างตำบลน่าอยู่ตำบลสุขภาวะ โดยจัดทำ “ธรรมนูญตำบล 8 ริ้ว” โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนา (1) สถาบันการเงินของชุมชนระดับตำบล (2) วัดทุกวัดเป็นศูนย์กลางของชุมชน โรงเรียนทุกโรงเรียนในตำบลบูรณาการการเรียนรู้กับเศรษฐกิจ สังคม (3) สถานประกอบการในตำบล มีสัมมาชีพเต็มพื้นที่ มีทักษะวิชาช่างทุกแขนง (4) มีตลาดชุมชนและการจัดการท่องเที่ยวชุมชน (5) มีระบบจัดการสิ่งแวดล้อม พลังงาน และจัดการขยะ (6) สร้างสังคมที่คนไทยไม่ทอดทิ้งกัน มีองค์กรจัดการอาสาสมัคร เพื่อชุมชน พัฒนาคุณภาพเด็กและเยาวชน มีความสามารถในการดึงความสนับสนุนจากภายนอก (7) เป็นตำบลปลอดภัย เป็นตำบลแห่งการทำความดี และ (8) มีนวัตกรรมระบบสุขภาพตำบล แหล่งเรียนรู้ตำบล ซึ่งการจัดทำธรรมนูญตำบลน่าอยู่เป็นการสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 16 สนับสนุนสังคมที่สงบสุขและครอบคลุมที่เอื้อต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนให้ทุกคนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมและสร้างสถาบันที่มีประสิทธิภาพมีความรับผิดชอบ และทุกคนสามารถเข้าถึงในทุกระดับ

2) ปฏิญญาวาระเปลี่ยนตะวันออก วุฒิอาสาฯ จังหวัดฉะเชิงเทรา สมัชชาแปดริ้วเมืองยั่งยืนและเครือข่ายเพื่อนตะวันออก ได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรป สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อค้นหาแนวทางการขับเคลื่อนภาคตะวันออกอย่างยั่งยืน ออกแบบทิศทางการพัฒนาภาคตะวันออกที่พึงปรารถนา โดยประยุกต์แนวคิดเศรษฐกิจโดนัท (Doughnut Economics) มาเป็นดัชนีวัดความอยู่ดีมีสุขร่วมกันของภาคตะวันออก และจัดทำแผนเดินหน้าทางยุทธศาสตร์ 5 ด้าน ที่เสนอเป็นทางเลือกต่อสาธารณะในการพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันออก ประกอบด้วย (1) การสร้างเมืองน่าอยู่ชุมชนน่าอยู่ (2) ฟื้นฟูคุณภาพสิ่งแวดล้อมและความอุดมสมบูรณ์ (3) เป็นศูนย์กลางอาหารปลอดภัย (4) ส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน (5) ยกระดับการเรียนรู้บนฐานชุมชน (วิถีชีวิต- ภูมิปัญญา-วัฒนธรรม) และได้นำเสนอในเวทีสาธารณะภาคตะวันออก “ตะวันออก วิถีแห่งความสุข” เมื่อวันที่ 18 – 19 ธันวาคม 2561 ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดฉะเชิงเทรา การขับเคลื่อนดังกล่าวช่วยสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 16 สนับสนุนสังคมที่สงบสุขและครอบคลุมที่เอื้อต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนให้ทุกคนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมและสร้างสถาบันที่มีประสิทธิภาพมีความรับผิดชอบ และทุกคนสามารถเข้าถึงในทุกระดับ

มิติที่ 5 หุ้นส่วนการพัฒนา (Partnership) : เครือข่ายภาคตะวันออกยั่งยืน ประกอบด้วย 8 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ปราจีนบุรี นครนายก สระแก้ว ระยอง จันทบุรี และตราด ได้ประสานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับภูมิภาค โดยมีวุฒิอาสาฯ เป็นผู้เชื่อมประสานและหนุนเสริมการทำงานของเครือข่ายภาคตะวันออกยั่งยืนได้รวมตัวกันเป็น กลุ่มศึกษาการพัฒนาระเบียบเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC watch) เพื่อติดตามการดำเนินการของนโยบายพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ศึกษาผลกระทบจากการการเติบโตของธุรกิจท่องเที่ยวและการขยายตัวของพื้นที่อุตสาหกรรม จัดกิจกรรมเผยแพร่ความรู้และสร้างความตระหนักในการอนุรักษ์แม่น้ำบางปะกงแก่ชุมชนและเยาวชนในพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ