welcomeBrainbankยินดีต้อนรับทุกท่าน

กลุ่มที่ 2

กลุ่มสุขภาพ

โรงเรียนผู้สูงวัยตำบลลำภู

นราธิวาส

วุฒิอาสาฯ ร่วมขับเคลื่อนโรงเรียนผู้สูงอายุแบบกลุ่ม ซึ่งเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต การจัดการศึกษา การพัฒนาทักษะเพื่อพัฒนาทักษะผู้สูงอายุ และกิจกรรมของโรงเรียนจะเป็นเรื่องที่ผู้สูงอายุสนใจและมีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิต ช่วยเพิ่มพูนความรู้ ทักษะชีวิตที่จำเป็น โดยวิทยากรจิตอาสา หรือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วุฒิอาสาฯ มีบทบาทในการคัดเลือกพื้นที่ที่มีความเข้มแข็งในการทำงานด้านผู้สูงอายุ เพื่อต่อยอดและยกระดับเป็นโรงเรียนผู้สูงอายุร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ที่ช่วยเป็นพี่เลี้ยงในการดำเนินงาน รวมทั้งร่วมจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนให้มีความเหมาะสมกับผู้สูงอายุ และร่วมเป็นวิทยากรจิตอาสา

ผลการดำเนินงาน

จากการประเมินผลความพึงพอใจในการจัดตั้งโรงเรียนและหลักสูตรการเรียนการสอน พบว่า ร้อยละ 90 เห็นว่าหลักสูตรที่ใช้ในการเรียนการสอนสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ โดยเฉพาะการออกกำลังกายและการรับประทานอาหารของผู้สูงอายุให้ถูกหลักโภชนาการ เพื่อจะทำให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง ลดความเสี่ยงจากการเจ็บป่วย นอกจากนี้โรงเรียนผู้สูงวัย ยังสามารถช่วยให้ผู้สูงอายุคลายเหงา จิตใจกระชุ่มกระชวย สดชื่น รู้สึกภาคภูมิใจ และตระหนักในคุณค่า ความสามารถของตนเอง

ปัจจัยสู่ความสำเร็จ

1) การได้รับความร่วมมือจากสมาชิกในชุมชนตำบลลำภู อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส
2) การได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินโครงการฯ จากกองทุนสุขภาพตำบล อบต.ลำภู มาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีภาคีเครือข่ายที่สำคัญระดับพื้นที่ให้การสนับสนุน ช่วยเหลือ ชี้แนะ



ผลที่ได้รับ

1. ทางตรง ประโยชน์โดยตรงต่อผู้สูงอายุ คือ 1) ด้านสุขภาพร่างกาย ทำให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง กระฉับกระเฉง ลดความเสี่ยงจากการเจ็บป่วย ลดระยะเวลาการพึ่งพาผู้อื่น อายุยืน 2) ด้านจิตใจ ช่วยให้คลายเหงา จิตใจกระชุ่มกระชวย สดชื่น รู้สึกภาคภูมิใจและตระหนักในคุณค่า ความสามารถของตนเอง มีมุมมองเชิงบวกต่อตนเอง

3) ด้านสังคม มีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนวัยเดียวกันและคนต่างวัย ได้รับการยอมรับในฐานะสมาชิกของกลุ่ม 4) ด้านจิตวิทยา รู้เท่ากันและเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น สามารถปรับตัวและดำเนินชีวิตได้อย่างเหมาะสมตามวัย 5) ด้านเศรษฐกิจ เรียนรู้ทักษะทางด้านอาชีพ สามารถนำไปประกอบอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ ช่วยเหลือตนเองได้

โรงเรียนผู้สูงอายุ จังหวัดสุรินทร์

1. ความเป็นมา โรงเรียนผู้สูงอายุคอโค ได้ร่วมจัดตั้งกับ อบต. คอโค ในฐานะหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักในพื้นที่ในการจัดหาสถานที่ ด้านงบประมาณได้รับการสนับสนุนจากพระครูปิยธรรมกิตติ์ (หลวงพ่อชื่น) เจ้าอาวาสวัดมงคลรัตน์ เจ้าคณะตำบลคอโค โรงเรียนผู้สูงอายุคอโคจึงเปิดรับสมัครนักเรียนผู้สูงอายุรุ่นแรก จำนวน 68 คน นักเรียนที่มีอายุมากที่สุด คือ 83 ปี โดยให้นักเรียนแต่งกายเครื่องแบบนักเรียนเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการแต่งผ้าไหมพื้นเมืองมาข่มกัน รวมทั้งมีกระเป๋าสะพาย มีการกำหนดอายุให้นักเรียนแต่ละคนเป็นหนุ่มสาวอายุ 14 ปี ใช้คำนำหน้าว่าเด็กหญิง เด็กชาย และเรียกวิทยากรว่าคุณครู ตลอดจนเชิญชวนให้ผู้บริหารท้องถิ่น อาทิ ศอบต. รองนายก อบต. อดีตผู้ใหญ่บ้าน มาร่วมเป็นนักเรียนในรุ่นแรก เพื่อเชิญชวนและประชาสัมพันธ์ให้คนในชุมชนมาร่วมโครงการโรงเรียนผู้สูงอายุดังกล่าว 2.เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 1 ยุติความยากจนทุกรูปแบบในทุกพื้นที่ เป้าหมายที่ 2 ยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหาร ยกระดับโภชนาการและส่งเสริมการเกษตรกรรมที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 3 การมีสุขภาวะในการดำรงชีวิต และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคนในทุกช่วงอายุดังกล่าว

โดยวุฒิอาสาฯ ได้รับเกียรติจากคณะกรรมการชมรมผู้สูงอายุคอโคให้ร่วมโครงการพัฒนาผู้สูงอายุในตำบล จึงได้ศึกษาเรียนรู้ขั้นตอนและกระบวนการดูแลผู้สูงอายุในชมรมมาเป็นเวลา 1 ปี แล้ว จึงขับเคลื่อนการพัฒนาของชมรมผู้สูงอายุด้วยการเข้าหา รพสต. พมจ. และศูนย์พัฒนาอาชีพผู้สูงอายุ (ศพอส.) เพื่อศึกษาการเชื่อมโยงงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและการดูแลผู้สูงอายุ ประกอบกับได้รับข้อมูลจากการศึกษาดูงานที่ รพสต.ว่า กรณีผู้สูงอายุที่เป็นผู้ป่วยติดเตียงจะมีผู้ดูแลระยะยาว (Long Term Care) อยู่แล้ว

บทบาทของวุฒิอาสาฯ วุฒิอาสาธนาคารสมองเป็นผู้ริเริ่มจัดตั้งโรงเรียน เป็นครูใหญ่ ครูผู้สอน พิจารณานำหลักสูตรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องมาใช้ ประสานหน่วยงาน และนำวิทยากรมาสอนนักเรียน

วุฒิอาสาฯ กลุ่มสุขภาพ กรุงเทพฯ

ความเป็นมา

วุฒิอาสาธนาคารสมองกลุ่มสุขภาพ ได้มีการรวมกลุ่มดำเนินงานตั้งแต่ ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญทางการแพทย์และสาธารณสุขและเชี่ยวชาญด้านอื่น ๆ ที่มีความสนใจช่วยเหลือสังคมทางด้านสุขภาพอนามัย จำนวน ประมาณ 60 ท่าน เน้นการเสริมสร้างประสิทธิภาพการพัฒนาสุขภาพอนามัยของประชาชนทุกรูปแบบ

มีวิธีการ approach ทำงานกับภาคีเครือข่าย เป็นการดำเนินงานในลักษณะกลุ่ม ใช้ชื่อว่า “กลุ่มสุขภาพ” โดยร่วมดำเนินงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กรุงเทพมหานคร กรมอนามัย สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

ผลการดำเนินงาน

ประกอบด้วย “โครงการพัฒนาเด็กไทยให้เต็มศักยภาพด้วยอาหารและโภชนาการ” โดยวุฒิอาสาฯ กลุ่มสุขภาพ ร่วมกับมหาวิทยาลัยทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ดำเนินการใน 4 ภูมิภาค 7 พื้นที่ ทั่วประเทศ เพื่อสร้างเครือข่ายและรูปแบบการดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาพพัฒนากระบวนการสร้างพฤติกรรมการบริโภคที่เหมาะสม และการพัฒนาอาหารและโภชนาการและสุขาภิบาลอาหารที่เหมาะสมกับบริบทของท้องถิ่นต่างๆ

ผลลัพธ์จากการดำเนินงาน เด็กและเยาวชนที่ร่วมโครงการ จำนวนกว่า 100,000 คน มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นสามารถขยายผลให้เพื่อน ครอบครัว และชุมชน เข้าใจและปฏิบัติตนให้ถูกต้องด้วยโภชนาการและสุขาภิบาลอาหาร และโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการเป็นตัวอย่างแก่โรงเรียนอื่นๆ
ปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จ 5 ประการ ได้แก่ 1) โรงเรียนมีนโยบายและบทบาทชัดเจนในการพัฒนาอาหาร โภชนาการ และสุขาภิบาลอาหาร 2) เด็กเป็นศูนย์กลางและหัวใจในการพัฒนา 3) มีความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาสื่อทุกระดับทั้งภายในและภายนอกโรงเรียน 4) บุคลากรทุกระดับตั้งแต่ผู้บริหาร ครูอาจารย์ ผู้ประกอบการ นักเรียน ผู้ปกครอง องค์กร และชุมชน มีส่วนร่วมในการพัฒนาอย่างยั่งยืน และ 5) มีกระบวนการและการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพในการพัฒนา

“โครงการพัฒนาโรงเรียนต้นแบบด้านสุขาภิบาลอาหาร” ในปี 2553 – 2555 เป็นการดำเนินงาน เพื่อสาธิตรูปแบบการบริหารโรงอาหารตามข้อกำหนดมาตรฐานงานสุขาภิบาลอาหารในสถานศึกษา และเป็นแนวทางให้สถานศึกษาอื่นนำไปประยุกต์ใช้ โดยร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษา ขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สำนักการศึกษา และสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร สำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ กรมอนามัย ภาควิชาวิทยาศาสตร์อนามัยสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหิดล

1) โรงเรียนวัดราษฎร์ศรัทธาธรรม (กทม.) 2) โรงเรียนวัดประชาระบือธรรม (กทม.) 3) โรงเรียนวัดลาดพร้าว (กทม.) 4) โรงเรียนวัดบางกระดี่ (กทม.) 5) โรงเรียนพญาไท (สพฐ.) 6) โรงเรียนราชวินิต (สพฐ.) 7) โรงเรียนวัดเววันธรรมาวาส (สพฐ.) 8) โรงเรียนสารสานน์เอกตรา (สช.) 9) โรงเรียนสารสาสน์วิเทศสายไหม (สช.) 10) โรงเรียนสารสาสน์วิเทศราชพฤกษ์ (สช.)

จัดทำหนังสือ “ธนาคารสมองเพื่อสุขภาพ” เล่ม 1 และ 2” โดยรวบรวมเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับสุขภาพ พลานามัย โรคที่พบบ่อยในประชาชน ตลอดจนวิธีการเสริมสร้าง ดูแลสุขภาพกายและจิตในด้านต่าง ๆ และหนังสือ “สร้างเด็กไทยให้เต็มศักยภาพด้วยการออกกำลังกาย” โดยรวบรวมวิธีการออกกำลังกายสำหรับเด็กจากผู้ทรงคุณวุฒิของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ และกรมพลศึกษา เพื่อแจกจ่ายให้แก่ห้องสมุดโรงเรียนและห้องสมุดประชาชนทั่วประเทศ ซึ่งหนังสือทั้ง 3 เล่ม ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก

โรงเรียนผู้สูงอายุเทศบาลตำบลท่าข้าม จังหวัดเพชรบูรณ์

ความเป็นมา

ทำงานกับภาคีเครือข่าย เป็นการดำเนินงานต่อยอด จากชมรมผู้สูงอายุเทศบาลตำบลท่าข้ามที่ดำเนินการส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในเขตชุมชนเทศบาลตำบลท่าข้ามมาตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ. 2550 ทั้งกิจกรรมด้านการส่งเสริมสุขภาพ (การรำไม้พลอง) การบริจาคเงินช่วยเหลือครอบครัวของผู้สูงอายุในชุมชนที่เสียชีวิต รวมถึงสนับสนุนกิจกรรมตามวัฒนธรรมประเพณีของไทยเป็นประจำทุกปี

บทบาทของวุฒิอาสาฯ วุฒิอาสาฯ มีบทบาทในการร่วมพัฒนาหลักสูตรที่เหมาะสมกับความต้องการของเพื่อนผู้สูงอายุ เป็นวิทยากรสอนเพื่อนในสิ่งที่ตัวเองเชี่ยวชาญ อาทิ เป็นวิทยากรสอนประดิษฐ์ดอกไม้จากเศษวัสดุ ซึ่งต่อมาพัฒนาเป็นรายได้ของชมรม และนำมาใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ รวมทั้งทำงานร่วมกับศูนย์เด็กเล็กเทศบาลตำบลท่าข้าม ในการถ่ายทอดภูมิปัญญา และร่วมเป็นวิทยากรสานสามวัยกับกลุ่มเด็ก เล่านิทาน เล่าประสบการณ์ให้ลูกหลานฟัง นอกจากนี้ เป็นแกนนำในการเป็นจิตอาสาออกดูแลผู้สูงวัยในชุมชน เพื่อให้ผู้สูงวัยที่อยู่บ้านมีกำลังใจที่ดี มีเพื่อน

ผลการดำเนินงาน

จัดตั้งโรงเรียนและพัฒนาหลักสูตรที่ตรงกับความต้องการของชุมชน มีผลิตภัณฑ์จากผู้สูงวัยเป็นสินค้าของชุมชน อาทิ พวงหรีดจากเศษวัสดุเหลือใช้ ไข่เค็มปลอดสารพิษ ยาหม่องสมุนไพร และมีจิตอาสาที่เป็นผู้สูงวัยออกไปดูเพื่อนในชุมชน ปัจจัยสู่ความสำเร็จ ได้รับการสนับสนุนจากเทศบาล กำนันผู้ใหญ่บ้าน ที่คอยช่วยดูแลสารทุกข์สุขดิบในพื้นที่ มีการดำเนินงานและวางแผนร่วมกันระหว่างโรงเรียนผู้สูงอายุ ศูนย์เด็กเล็ก วัด และเทศบาลรวมถึงหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ อาทิ กศน.พาคุณครูมาสอนอาชีพ รพ.สต.ในพื้นที่ดูแลเรื่องส่งเสริมสุขภาพมาโดยสร้างการทำงานแบบ “บวร” ได้เองโดยธรรมชาติ

ผลลัพธ์จากการดำเนินงาน

1. ทางตรง ประโยชน์โดยตรงต่อผู้สูงอายุ คือ ได้รับการพัฒนาสุขภาพกายและใจ ลดการพึ่งพาผู้อื่น รู้สึกภาคภูมิใจและตระหนักในคุณค่า ความสามารถของตนเอง มีมุมมองเชิงบวกต่อตนเอง เรียนรู้ทักษะทางด้านอาชีพ สามารถนำไปประกอบอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ ช่วยเหลือตนเองได้

2. ทางอ้อม ผู้สูงอายุในเทศบาลตำบลท่าข้าม สามารถดำเนินงานร่วมกับเครือข่ายในพื้นที่ มีบทบาทในการพัฒนาตนเอง พัฒนาเด็กและเยาวชน และประดิษฐ์สิ่งของหารายได้ให้กับตัวเอง กลุ่มและชมรม พร้อมทั้งออกไปดูแลกลุ่มอื่นในชุมชนด้วยการเป็นจิตอาสา วุฒิอาสาฯ และผู้สูงวัยในชุมชนจึงเป็นภาคีที่สำคัญของเทศบาลในการดูแลด้านสังคมและสุขภาพของคนในพื้นที่