Back Office : | Login  

ขณะนี้คุณอยู่ที่หน้า : ผลงานวุฒิอาสา > องค์ความรู้
 บทความของวุฒิอาสา Minimize

Wednesday, June 18, 2008  
 เรื่องของผู้สูงอายุ
:: 6263 Views :: ด้านการแพทย์และสาธารณสุข

โดย...ผศ. นาม  ศิริเสถียร

          นายแพทย์บรรลุ  ศิริพานิช ประธานคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.) ได้กล่าวว่า คณะอนุกรรมการติดตามการดำเนินการตามนโยบายและแผนผู้สูงอายุ ร่วมกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ อายุ 18 - 59 ปี จำนวน 9,000 คน ระหว่างวันที่ 16 - 23 กุมภาพันธ์ 2550 ผลปรากฏว่า

ประชาชนร้อยละ 20.9 เห็นว่าผู้สูงอายุเป็นคนมีประโยชน์น้อย ร้อยละ 34 เห็นว่าผู้สูงอายุเป็นคนน่าเบื่อ ร้อยละ 60.1 เห็นว่าผู้สูงอายุเป็นคนขี้บ่น ร้อยละ 35.6 เห็นว่าผู้สูงอายุเป็นภาระแก่บุตรหลานหรือครอบครัวและ ร้อยละ 44.5 เห็นว่าผู้สูงอายุมักเป็นคนตามโลกไม่ทัน โดยร้อยละ 16.9 เห็นว่าผู้สูงอายุไปอยู่บ้านพักคนชรา หรืออาศัยวัด ร้อยละ 91.4 เห็นว่าควรมีการเตรียมการเพื่อวัยสูงอายุ โดยเห็นว่า ควรเตรียมการด้านการเงินมากที่สุด ร้อยละ 98.8 ด้านสุขภาพ ร้อยละ 96.9 ด้านที่อยู่อาศัย 96.5 ด้านผู้ที่จะมาดูแลในอนาคต ร้อยละ 89.4 และเรื่องมรดกน้อยที่สุด ร้อยละ 84.6 ซึ่งร้อยละ 35 เห็นว่าควรมีการเตรียมการตั้งแต่ อายุ 40 - 49 ปี เป็นไงครับ น่าคิดนะ

          และท่านกล่าวต่อไปว่า การให้สวัสดิการที่ดีที่สุดแก่ผู้สูงอายุ คือ ต้องทำให้ผู้สูงอายุช่วยเหลือตนเองให้ได้มากที่สุด ยืนอยู่บนลำแข้งของตนเองให้ได้ ไม่ใช่รอแต่เบี้ยเลี้ยงยังชีพเดือนละ 500 บาท ที่รัฐจัดสรรให้ ที่สำคัญต้องรู้จักพัฒนาตนเองให้เท่าทันโลกที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย จึงจะอยู่ร่วมกับลูกหลานได้อย่างไม่มีปัญหา และหากไม่สามารถช่วยตนเองได้ก็เป็นหน้าที่ของครอบครัวที่จะให้ความช่วยเหลือก่อนที่จะเป็นหน้าที่ของรัฐเป็นขั้นตอนสุดท้าย

        ในความคิดของผม เราต้องยอมรับว่า สังคมปัจจุบันเป็นครอบครัวที่ทุกคนต้องออกไปทำงานนอกบ้านทุกเช้า เย็นกลับ ลูกก็ไปโรงเรียน ทุกคนต่างก็ทำหน้าที่ของตนเอง จึงไม่ค่อยมีเวลาดูแลผู้อื่น ถ้าทุกคนในครอบครัวสุขภาพดีช่วยเหลือตนเองได้ ก็มีความสุขกันตามอัตภาพ ถ้ามีใครเจ็บป่วยช่วยเหลือตนเองมิได้ เป็นภาระแก่ลูก หลาน ก็น่าเห็นใจ

        ฉะนั้นทุกคนควรเตรียมตัวเองให้พร้อม ไม่ประมาท เราแก่ลงทุกวัน ส่วนตัวผมถือปฏิบัติตลอดมาดังนี้ คือ พอเกษียณต้องทำงานทุกอย่างเพิ่มขึ้น 2 เท่า เพื่อออกกำลังกาย และพูดให้น้อยลงครึ่งหนึ่งที่เคยพูด ประโยชน์ก็จะได้แก่ครอบครัว ลูก หลานเราเอง งานที่ผมทำใครจะนำไปใช้บ้างเชิญตามสบาย

         1.   ผมตื่นเวลา 04.30 น. ทุกวัน หุงข้าวหาอาหารให้หลานไปโรงเรียน และเตรียม 1 ชุด สำหรับใส่บาตร พอเวลา 05.30 น. ก็ออกจากบ้าน เดินไปใส่บาตรที่ตลาด กม.4 ใช้เวลาเดินไปกลับประมาณ 30 - 40 นาที บางวันก็เข้าในตลาดสด แวะทักทายคุยกับพ่อค้า แม่ค้า ตามประสาคนชอบคุยและซื้อของ ในวันสงกรานต์ พ่อค้าแม่ค้าขอรดน้ำขอพร ก็จะให้พร “ขอให้ครอบครัวมีความสุข ความเจริญ ทำมาค้าขายดี และมีสุขภาพอนามัย อายุยืนอย่างน้อยเท่าผม คือ 75 ปี และโดยเฉพาะหัวหน้าครอบครัว ขอให้สุขภาพแข็งแรงและมีแรงแล้วเวลามีแรง ก็ขอให้แข็งนานๆ......กันทุกครอบครัวนะ” ปรากฏว่าแม่บ้านทุกคนมองหน้ากันแล้วหัวเราะ บางคนพูดว่าพรแข็งนานๆ ไม่มีใครเคยให้ ดีนะ ทุกคนประสานเสียงพร้อมกันว่า หนูชอบๆ ตามาให้พรนี้บ่อยๆ นะ ไม่ต้องถึงสงกรานต์หรอกมันนานไป กลายเป็นขวัญใจแม่ค้าเลย

        2.  พอกลับบ้าน รดน้ำต้นไม้ ประมาณ 30 นาที แล้วทานอาหารเช้า

        3.  ซักผ้าให้ครอบครัวทุกคน เสื้อผ้าที่เขาใส่เล่นเท่านั้น แล้วกวาดบ้าน ถูบ้าน เสร็จเวลา 8.30 น.

        4.  อ่านหนังสือพิมพ์ เขียนหนังสือ อาจงีบ 10 - 20 นาทีทุกวัน วัยเกษียณจงทำงานมากๆ พูดน้อยๆ ร่างกายจะได้แข็งแรง ทำงานมากๆ เดินมากๆ เพราะไม่ช้าเราก็จะเดินไม่ได้แล้ว นี่คือความสุขบั้นปลายชีวิต ถ้าทุกคนทำได้อย่างนี้ คำว่า “ผู้สูงอายุเป็นคนมีประโยชน์น้อย” คงไม่ใช่จริงไหม! ทำจิตใจให้สงบ เยือกเย็น นั่นคือที่สุดของชีวิต

ศาสตร์ใดจะล้ำเท่า             ธรรมาน
ทรัพย์สิ่งใดไกรทาน           ที่ให้
รักใดจักปูนปาน                  รักสัจ ศีลนา
สุขสิ่งใดจักได้                     สุขเพียงนฤพาน

ที่มา : 1.  สุภาษิตโลกนิติคำโคลง เผ่าพงษ์ สมนิล 2535
2.  มติชน 19 เมษายน 2550 หน้า 16

 


 Print   
 บทความที่เกี่ยวข้อง Minimize

 Print   
Copyright © 2008 by สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ