Back Office : | Login  

ขณะนี้คุณอยู่ที่หน้า : ผลงานวุฒิอาสา > องค์ความรู้
 บทความของวุฒิอาสา Minimize

Wednesday, June 18, 2008  
 เงิน
:: 4445 Views :: ด้านการพัฒนาสังคม / ท้องถิ่น / ชุมชน

โดย...ผศ. นาม  ศิริเสถียร

         เงิน บางคนรู้จักและอยากได้ อยากเป็นเจ้าของและไม่มีใครเบื่อเงิน เกลียดเงิน ก็น่าแปลกดีนะ มหาเศรษฐีมีเงินเป็นแสนล้าน ก็ยังชอบเงิน ยังอยากได้ แต่มีคนเยอะที่ไม่รู้ค่าของเงิน ไม่รู้จักการใช้เงิน จึงนำความเดือดร้อนมาให้ แต่คนที่รู้จักค่าของเงิน ใช้เงินอย่างมีเหตุผล ก็ย่อมมีความสุข ชีวิตรุ่งเรือง เงินเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตของมนุษย์ทุกคนตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาจนตาย มารู้จักเงินกันอีกหน่อยดีไหม !

        เงินหรือเงินตรา เป็นวัตถุที่มีตราของรัฐ รัฐกำหนดขึ้นไว้ เพื่อใช้ชำระหนี้ตามกฎหมาย เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน ได้แก่ เหรียญกษาปณ์ ธนบัตร เป็นต้น และจำแนกออกตามภาษาพูด ดังนี้

1.  เงินก้นถุง  เป็นเงินที่ผู้ใหญ่หรือพ่อแม่มอบให้ในวันแต่งงาน เพื่อเก็บไว้เป็นสิริมงคล

2.  เงินก้อน  เงินที่จ่ายให้ทีเดียวทั้งหมด เงินที่สะสมเป็นจำนวนมาก

3.  เงินกู้  เงินที่กู้ยืมโดยมีดอกเบี้ย หรือไม่มีดอกเบี้ยก็ได้ คงรู้จักกันดีนะ โดยเฉพาะผู้ที่กู้เงินบ่อย

4.  เงินเชื่อ  เงินที่ติดค้างอยู่เมื่อซื้อของโดยเชื่อถือกัน ไม่ต้องชำระทันที บางทีเรียกเงินแห้ง ถ้าไม่ยุ่งกับเงินเชื่อได้ก็จะดี

5.   เงินดาวน์  เป็นเงินที่ชำระล่วงหน้าครั้งแรก ก่อนที่จะผ่อนส่งเป็นงวดๆ ต่อไป

6.   เงินเดือน  เงินค่าตอบแทนการทำงาน ที่กำหนดให้เป็นรายเดือน ถ้าใครจ่ายหมดไม่ถึงเดือนก็แย่นะ จะต้องบริหารเงินให้พอใช้ตลอดเดือน และมีส่วนหนึ่งเก็บไว้เมื่อยามเจ็บป่วยจักได้นำมาใช้ ที่เรียกว่ารู้ค่าของเงินและใช้เงินเป็น แต่ถ้าใครใช้เงินหมดภายใน 15 - 20 วัน และต้องไปกู้เงินมาใช้ ก็ต้องพิจารณาตนเองนะ ว่าทำไมเราใช้เงินไม่พอเดือน

7.  เงินต้น  เงินที่ให้กู้ยืมโดยไม่รวมดอกเบี้ย

8.  เงินตาย  เงินที่รัฐเลิกใช้ เงินที่เก็บไว้มิได้นำมาใช้

9.  เงินทอน  เงินที่ส่วนเกินมูลค่าของสินค้า ที่ผู้ขายคืนให้แก่ผู้ซื้อ

10.  เงินนอน  เงินเหลือใช้ที่เก็บไว้ อาจฝากไว้กินดอกเบี้ยที่ธนาคาร ใครมีเงินนอนไว้เยอะก็ดี

11.  เงินปันผล  คือเงินส่วนแบ่งเงินกำไรที่กำหนดจ่ายให้แก่ผู้ถือหุ้น

12.  เงินปากถุง  เงินที่ผู้ให้กู้เรียกเก็บในเวลาให้กู้ มักเป็นเงินกู้นอกระบบ และนายทุนหน้าเลือดข้นๆ เขาทำกัน

13.   เงินปากผี  เงินที่ใส่ไว้ในปากศพ อย่าไปควักเอามานะ เดี๋ยวเจ้าของตามมาทวง

14.   เงินปี  เงินที่กำหนดจ่ายเป็นรายปี ให้แก่พระบรมวงศานุวงศ์ หรือข้าราชบริพารจากเงินงบประมาณรายจ่ายหมวดเงินอุดหนุนของสำนักพระราชวัง

15.  เงินผ่อน  เงินที่ชำระให้แก่เจ้าหนี้เป็นงวด

16.  เงินฝืด  ภาวะเศรษฐกิจที่ปริมาณเงินหมุนเวียนในประเทศมีน้อยไป การใช้จ่ายลดน้อยลง ทำให้ราคาสินค้าตก เพราะไม่มีกำลังซื้อ คนจนลง

17.  เงินเฟ้อ  ภาวะเศรษฐกิจที่ปริมาณเงินหมุนเวียนในประเทศมากเกินไป ทำให้ราคาสินค้าแพง เงินเสื่อมค่าน้อยลง

18.   เงินร้อน  เงินที่ได้จากการทุจริต หรือไม่บริสุทธิ์ ใครมีเงินร้อนไว้ก็นอนไม่หลับ แต่อาจไปหลับดีในคุก บางคนต้องหนีไปต่างประเทศก็มี

19.  เงินรายปี  จำนวนเงินที่บริษัทประกันชีวิตจ่ายให้แก่ผู้รับเงินรายปีตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันชีวิตรายปี ซึ่งผู้ประกันภัยสัญญาว่าตราบใดที่ผู้เอาประกันชีวิตยังทรงชีพอยู่ บริษัทจะจ่ายเงินให้ตลอดไปจนกว่าจะเสียชีวิต หรือจะจ่ายให้ชั่วระยะเวลาหนึ่งตามที่ตกลงไว้ เงินรายปีนี้อาจจะจ่ายเป็นงวด เป็นปี รายครึ่งปี หรือรายเดือนก็ได้ จำนวนเงินที่จ่ายอาจจะคงที่ เพิ่มขึ้น หรือเปลี่ยนแปลงก็ได้

20.  เงินสด  คือเงินที่มีอยู่ อาจจ่ายได้ทันที เงินที่ชำระทันทีเมื่อซื้อหรือขายกัน

21.  เงินหลวง  เงินที่เป็นของแผ่นดินหรือรัฐ

22.  เงินแห้ง  คือเงินเชื่อนั่นแหละ

          เงิน  เป็นเพียงปัจจัยหนึ่งเท่านั้นที่ทำให้ครอบครัวมีความสุข ดำรงชีวิตอยู่ด้วยความปกติสุข เพราะเงินเป็นสื่อกลางหรือสะพาน ชักนำให้เรามีปัจจัย 4 หรือ 5 สุดแต่จะพูด คือ อาหาร อาคาร อาภรณ์ โอสถ และอารมณ์ หรือความสุขทางใจ ทางเพศ อาทิ การท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ การเล่นกีฬากลางแจ้ง-ในร่ม สิ่งเหล่านี้ล้วนต้องใช้เงิน แต่จะมีเงินมากน้อยเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับความสามารถในการหาเงินของแต่ละคน คนมีเงินน้อยก็ต้องรู้ค่าของเงิน คือความจำเป็น (need) กับความต้องการ (want หรือ desire) และความพอดี พอเหมาะ พอควรแก่ฐานะของเรา ไม่ควรเปรียบเทียบกับคนอื่น จำไว้ ไม่เป็นทาสของวัตถุนิยม ชีวิตก็จะมีแต่สุข จงเจียมตัวเรา ต้องเป็นตัวเรา และไม่ต้องละอาย ใครจะคบไม่คบก็เชิญตามสบาย รู้จักความพอดี พอเพียง กินเพื่ออยู่มิใช่อยู่เพื่อกิน แล้วเราจะมีความสุข ลูกทุกคนควรได้รับการศึกษาตามอัตภาพ สอนให้ลูกช่วยเหลือตนเอง ช่วยทำงานบ้าน สุภาษิตโบราณที่คุณพ่อ-คุณแม่เคยสอนยังจำได้ไหม! “มีสลึงพึงบรรจบให้ครบบาท อย่าให้ขาดสิ่งของต้องประสงค์ ถ้ามีน้อยใช้น้อยค่อยบรรจง อย่าจ่ายลงให้มากจะยากนาน” ถ้าจำไม่ผิดนะ ใครจำดีช่วยแก้ให้ก็ขอขอบคุณ เงินเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้เราดำรงชีพมีความสุข แต่ยอดของความสุขที่แท้จริงมิใช่เงินนะ คนมีอันจะกินในเมืองไทยและของโลก ได้อุทิศเงินให้แก่การกุศล อาทิ โรงเรียน โรงพยาบาล สถานเลี้ยงเด็กกำพร้า เป็นทุนการศึกษา อาทิ มูลนิธิรอคกี้เฟลเลอร์ เป็นต้น นั่นคือเขารู้จักพอ เขารู้ค่าของเงิน แต่ก็มีไม่น้อยที่จิตใจต่ำกว่าเงิน หาความสุขมิได้ ในโลกใบนี้มีทางเดินกว้างขวางยาวไกล สุดแล้วแต่ใครจะเลือกเดิน แต่บั้นปลายชีวิตขอให้มีความสุขกันถ้วนหน้าทุกคนในครอบครัว ก็ขอให้เลือกเดินทางนั้นเถอะครับ

นกน้อยขนน้อยแต่    พอตัว
รังแต่งจุเมียผัว          อยู่ได้
มักใหญ่ย่อมคนหวัว  ไพเพิด
ทำแต่พอตัวไซร้        อย่าให้คนหยันฯ

ที่มา : 
1.  สุภาษิต  โลกนิติคำโคลง เผ่าพงษ์ สมนิจ หน้า 11
2. พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525


 Print   
 บทความที่เกี่ยวข้อง Minimize

 Print   
Copyright © 2008 by สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ