Back Office : | Login  

ขณะนี้คุณอยู่ที่หน้า : ผลงานวุฒิอาสา > องค์ความรู้
 บทความของวุฒิอาสา Minimize

Wednesday, June 18, 2008  
 มาทำประโยชน์ให้แผ่นดิน
:: 4086 Views

 โดย...ผศ. นาม  ศิริเสถียร

วันนี้อ่านมติชน (14 พฤษภาคม 2550 หน้า 34) ของ สุจิตต์  วงษ์เทศ เขากล่าวถึงคนในสมัยก่อนบรรพบุรุษสุวรรณภูมิไม่น้อยกว่า 5,000 ปี มีวิธีทำศพ 2 อย่างคือ

         1.  ตระกูลหัวหน้า ฝังศพไว้บนพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของชุมชนแล้วเอาสิ่งของเครื่องมือ เครื่องใช้ฝังไปด้วย อาทิ ภาชนะ เครื่องประดับ และเครื่องราง ฯลฯ

         บางพวกฝังดินให้เนื้อหนังเน่าเปื่อยก่อน แล้วขุดเอากระดูกเปล่ามาทำพิธีอีกครั้ง แล้วเอากระดูกใส่ภาชนะ เช่น ดินเผาสัมฤทธิ์ ฯลฯ ฝังดินอีกครั้งหนึ่ง พบมากในอีสาน โดยเฉพาะทุ่งกุลาร้องไห้ราว 2,000 - 3,000 ปีมาแล้ว ประเพณีอย่างนี้สืบเนื่องจนปัจจุบัน เช่น เก็บกระดูกบรรพบุรุษไว้ในโกศ หรือภาชนะหม้อ ไห หรือสถูปเจดีย์

         2.  คนทั่วไปไร้ตระกูล เอาศพไปวางทิ้งไว้ ในที่สมควรให้แร้งกากิน บริเวณฝังศพสมัยแรกเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ อยู่ท่ามกลางหมู่บ้าน แต่สมัยหลังแยกออกไปในที่สาธารณะ เรียกว่า ป่าช้า หรือ เปลว ทางใต้ เรียกว่าป่าช้าที่เผาศพว่า เปลว

          หลัง พ.ศ.1000 รับอารยธรรมจากอินเดีย เริ่มเผาศพตามประเพณีฮินดู แต่บางพวกยังฝังดินกับทิ้งให้แร้งกิน

          เมรุเผาศพ เป็นอาคารเตาสำหรับเผาศพของคนปัจจุบัน เริ่มมีในสมัยรัชกาลที่ 5 อยู่เฉพาะวัดหลวงในกรุงเทพฯ แล้วค่อยๆ แพร่หลายออกไปจนทั่วประเทศ คำว่า เมรุ (อ่านว่า เมน) มาจากเขาพระสุเมรุ (พระสุเมน) ที่สถิตของมหาเทพของพราหมณ์ และเทวดาของพุทธ เช่น พระอินทร์ ฯลฯ ฉะนั้นงานพระบรมศพจึงต้องทำ พระเมรุมาศ (เม-รุ-มาต) ไว้กลางทุ่งพระเมรุ (ทุ่ง-พระ-เมน) ที่ต่อมาคือ สนามหลวง

        ศาสตราจารย์โรเจอร์  ชอร์ต นักชีววิทยามหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ออสเตรเลีย กล่าวว่า หมดยุคของการเผาศพแล้ว เพราะการเผาศพเป็นส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดสภาวะโลกร้อน มนุษย์ควรช่วยเหลือธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วยการฝังศพใต้ต้นไม้ ร่างกายมนุษย์จะช่วยให้สารอาหารแก่ต้นไม้ และต้นไม้จะเปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นออกซิเจนได้นับสิบๆ ปีทีเดียว ท่านกล่าวต่อไปว่า “เป็นเรื่องน่าอายอยู่สักหน่อยที่เมื่อตายแล้วยังสร้างมลพิษให้โลก คือ เหตุใดต้องมาสร้างคาร์บอนไดออกไซด์จากการตายของเราด้วย ร่างกายเราจะเป็นอาหารชั้นดีให้กับพื้นโลก ยิ่งช่วยให้ต้นไม้เติบโตเร็วเท่าใดก็ยิ่งดีเท่านั้น” ฉะนั้นมาฝังศพใต้ต้นไม้กันเถอะ

        ที่เขียนข้อคิดนี้มาให้อ่าน ก็เพราะผมคิดอยู่ในใจมาตั้งแต่เด็กๆ เพราะอยู่บ้านนอก พอเวลาไก่ตาย สุนัขตาย ฯลฯ พ่อก็บอกให้เอาไปขุดหลุมฝังใต้ต้นมะม่วง ต้นตาล ไม่ช้าต่อมาจะเห็นต้นไม้นั้นเจริญงอกงามดี ผมจึงปฏิบัติมาจนปัจจุบัน และนึกอยู่คนเดียวเสมอว่า ถ้าตายไปควรจะฝังไว้ใต้ต้นมะม่วงหลังบ้าน แต่ไม่กล้าพูดกับใคร เดี๋ยวเขาจะหาว่าผมบ้า และลูกๆ เขากลัวไม่กล้าอยู่ในบ้าน กลัวไม่กล้าออกไปเก็บผัก ผลไม้ที่ผมปลูกไว้หลังบ้าน เพราะออกไปหลังบ้านทีไรก็เห็นหลุมศพของพ่อทุกที จริงไหม ! ถ้าพวกเราทำกันมากๆ จนมีความเคยชิน ไม่ช้าสังคมก็ยอมรับ แต่ใครจะเป็นคนแรกเท่านั้น จริงไหม ! สำหรับผม ถ้าลูก-ภริยา เขาทำให้ ยินดีมากทีเดียว เพราะตายแล้วยังทำประโยชน์ให้โลกได้ ปัญหาคือผมจะทราบได้อย่างไรว่าเขาฝังผมอยู่ใต้โคนต้นมะม่วง ถ้าใครรู้ก็ช่วยกระซิบด้วยนะ ผมไม่มาเข้าฝันคุณแน่ ๆ

 

โดย...ผศ. นาม  ศิริเสถียร


 Print   
 บทความที่เกี่ยวข้อง Minimize

 Print   
Copyright © 2008 by สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ