
สืบเนื่องจากพระราชดำรัสในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานในที่ประชุมมหาสมาคม ณ ศาลาดุสิดาลัย พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2543 เนื่องในมงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา ซึ่งมีประเด็นรับสั่งเกี่ยวกับเรื่องธนาคารสมอง โดยการนำผู้ที่เกษียณอายุแล้ว แต่ยังมีความรู้ความสามารถมาช่วยงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อประเทศชาติและพสกนิกรชาวไทยเป็นอย่างยิ่งที่ให้นำผู้ที่เกษียณอายุแล้วแต่ยังมีความรู้ความสามารถมาร่วมเป็นพลังในการพัฒนาประเทศ
คณะรัฐมนตรีได้ดำเนินการเพื่อสนองพระราชดำรัสในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ในการจัดตั้งธนาคารสมอง โดยมีมติเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2543 มอบหมายให้ทุกกระทรวง/ทบวงสำรวจทรัพยากรบุคคลที่พ้นจากตำแหน่งไปแล้วด้วยการลาออกหรือเกษียณอายุ แต่ยังมีสุขภาพดี มีความรู้ความสามารถในการประดิษฐ์ คิดค้น การวิจัย หรือการพัฒนาประเทศ มีความพร้อมและสมัครใจเป็นวุฒิอาสาธนาคารสมอง แล้วแจ้งข้อมูลดังกล่าวให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ทราบ และให้ สศช. มีฐานะเป็นหน่วยทะเบียนกลางธนาคารสมอง มีหน้าที่รวบรวมข้อมูล จัดทำบัญชีหรือทำเนียบผู้ทรงคุณวุฒิ จำแนกเป็นรายสาขาให้ตรงตามความต้องการในการพัฒนาประเทศ และเป็นตัวกลางประสานเชื่อมโยงเครือข่ายต่าง ๆ เพื่อให้วุฒิอาสาได้นำความรู้ ประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญมาช่วยงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวมในการพัฒนาประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนเสนอแนะมาตรการต่อคณะรัฐมนตรีในอันที่จะนำวุฒิอาสาฯ เหล่านี้มาร่วมทำงานเพื่อพัฒนาประเทศต่อไป
จะเห็นได้ว่าแนวคิดเรื่องธนาคารสมองมีความสอดคล้องกับสังคมและวัฒนธรรมไทยที่ให้ความเคารพนับถือต่อผู้อาวุโส ผู้เกษียณอายุแล้วที่มีความรู้ ทักษะ ความเชี่ยวชาญ ผ่านประสบการณ์ต่าง ๆ มาแล้วมากมาย สามารถถ่ายทอดภูมิความรู้และประสบการณ์อันดีงามจากผู้อาวุโสสู่คนรุ่นใหม่ เพื่อสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามเป็นประโยชน์แก่สังคมและประเทศชาติในช่วงชีวิตหลังเกษียณอายุได้เป็นอย่างดี
|