เปิดเวที “เชื่อมเครือข่าย ร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาวุฒิอาสาธนาคารสมองระดับกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 และตอนล่าง 2”

นางสาววรวรรณ  พลิคามิน 
รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
และเลขาธิการมูลนิธิพัฒนาไท

เมื่อวันที่ 12 และ 13 ธันวาคม 2567 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ร่วมกับมูลนิธิพัฒนาไท (มพท.) เปิดเวที “เชื่อมเครือข่าย ร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาวุฒิอาสาธนาคารสมอง ระดับกลุ่มจังหวัด” เพื่อส่งเสริมการรวมกลุ่มการทำงานและสร้างเครือข่ายการทำงานในระดับพื้นที่ของวุฒิอาสาฯ ในการเป็นพลังร่วมพัฒนาประเทศ ตามเป้าหมายการพัฒนาของกลุ่มจังหวัด วุฒิอาสาฯ ของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือ ประกอบกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 จ.ตาก พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย และอุตรดิตถ์  และกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 2 ประกอบด้วย กำแพงเพชร นครสวรรค์ พิจิตร อุทัยธานี และผู้บริหาร สศช. กรรมการมูลนิธิพัฒนาไท เจ้าหน้าที่ สศช. และ มพท. โดยมีผู้เข้าร่วมประมาณ 90 คน/เวที 

ในการนี้  นางสาววรวรรณ  พลิคามิน รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และเลขาธิการมูลนิธิพัฒนาไท ได้นำเสนอเป้าหมายและแนวทางการพัฒนาภาคเหนือ สถานการณ์การพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัด สถานการณ์ด้านประชากรที่สำคัญ การพัฒนาคนตามดัชนีความก้าวหน้าของคน (HAI) ใน 8 มิติ อาทิ มิติด้านการศึกษา มิติด้านสุขภาพ และมิติด้านชีวิตการทำงาน พร้อมทั้งปัญหาและความท้าทายที่สำคัญ ตลอดจนการขับเคลื่อนงานของวุฒิอาสาฯ โดยกล่าวถึง เป้าหมายและแนวทางพัฒนาภาคเหนือ (พ.ศ. 2566-2570) ที่ให้ความสำคัญสู่การเป็น “ฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ”

    เป้าหมายการพัฒนาตามแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 (พ.ศ. 2566-2570) มุ่งเน้นการเป็น “เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจเหนือ – ใต้ (NSEC) กับระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก – ตะวันตก (EWEC) ที่เข้มแข็ง” โดยปัจจุบันมีสถานการณ์การพัฒนาที่สำคัญ คือ การเปลี่ยนแปลงสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์
    ประเด็นการขับเคลื่อนที่สำคัญ ดังนี้ (1) การป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) อาทิ เบาหวาน ความดัน โดยส่งเสริมให้ประชาชนดูแลตนเองขั้นพื้นฐาน ด้วยหลัก 3 อ ประกอบด้วย อาหารปลอดภัย ออกกำลังกาย และอารมณ์ดี (2) การพัฒนาทักษะองค์ความรู้ทุกช่วงวัย : การรู้เท่าทันเทคโนโลยี ส่งเสริมให้ประชาชนทุกกลุ่มวัยรู้เท่าทันเทคโนโลยี สร้างภูมิคุ้มกันในตนเอง ป้องกันการถูกหลอกลวง โดยดำเนินการในระดับครัวเรือน และชุมชน (3) โครงการพัฒนาคนและพื้นที่เพื่อรองรับการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ด้วยการสร้างงาน สร้างอาชีพผ่านการท่องเที่ยวคู่ขนานกับการส่งเสริมมรดกโลก ร่วมกับการพัฒนาองค์ความรู้สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ให้กับทุกกลุ่มวัย และ (4) การบริหารจัดการขยะ ส่งเสริมการคัดแยกขยะในระดับครัวเรือน ชุมชน และขยายผลสู่สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ โดยผลักดันประเด็นการบริหารจัดการขยะสู่การจัดทำเป็นแผนงาน/โครงการในแผนพัฒนาระดับท้องถิ่น 

    หมายการพัฒนาตามแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 2 (พ.ศ. 2566-2570) เน้น “ยกระดับสินค้าเกษตรปลอดภัยที่มีนวัตกรรม แหล่งอุตสาหกรรมฐานชีวภาพ เสริมสร้างศักยภาพการท่องเที่ยวและบริการเป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุนเชื่อมโยงเศรษฐกิจภูมิภาคสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” โดยปัจจุบันมีสถานการณ์การพัฒนาที่สำคัญ คือ การเปลี่ยนแปลงสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์เช่นเดียวกับกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1

    ในการระดมประเด็นการขับเคลื่อนที่สำคัญ มีดังนี้ (1) การป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ผลักดันให้ประชาชนทุกคนตั้งแต่ระดับครัวเรือนถึงระดับชุมชนตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลและป้องกันโรค เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขของภาครัฐ (2) การส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรม เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนทุกกลุ่มวัย โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนให้เป็นคนดี มีวินัย มีความรับผิดชอบ ซึ่งเป็นประเด็นพื้นฐานของการพัฒนาสังคมที่มีคุณภาพ ดำเนินการในระดับครอบครัว และชุมชน (3) โครงการสร้างอาชีพนักเล่าเรื่อง ด้วยการสร้างอาชีพและรายได้เสริมให้คนในพื้นที่ผ่านการท่องเที่ยว และ (4) การบริหารจัดการขยะ โดยให้ความรู้ด้วยการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้การจัดการขยะแบบสัญจรในจังหวัดต่าง ๆ และการสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลง ดำเนินการนำร่องในระดับครัวเรือน  

    ในครั้งนี้ นางสาวดวงพร  เฮงบุณยพันธ์ กรรมการ มพท. ได้ให้ความเห็น ในการแปลงประเด็นการพัฒนาที่ได้จากการระดมความเห็นไปสู่การขับเคลื่อนในพื้นที่อย่างบรรลุผลสำเร็จ ควรกำหนดกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน อาทิ ระดับครอบครัว ระดับชุมชน และเน้นการใช้ความรู้ ความสามารถของวุฒิอาสาฯ ให้เต็มศักยภาพ นอกจากนี้ วุฒิอาสาฯ ควรให้ความสำคัญกับการถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภูมิปัญญาระหว่างกัน โดยให้ความสำคัญกับภาคีเครือข่ายที่มีบทบาทในการเชื่อมต่อ สนับสนุน และเสริมพลัง เพื่อให้การขับเคลื่อนงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ 

    รองเลขาธิการฯ กล่าวในตอนท้ายว่า ประเด็นขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ที่วุฒิอาสาฯ ระดมความเห็นร่วมกัน จะสามารถเชื่อมโยงภาคีเครือข่ายในระดับกลุ่มจังหวัดที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันขับเคลื่อน ซึ่งภายหลังการระดมความเห็นในครั้งนี้ สศช. จะสังเคราะห์ประเด็นที่ได้เพื่อนำมาจัดทำเป็นยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนงานวุฒิอาสาธนาคารสมองต่อไป

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *